กรมอนามัย มอบคู่มือการประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพ ให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
- กรมอนามัย
- 19 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2568) นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีรับมอบ "มุ้งสู้ฝุ่น" โดยมี แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นผู้มอบ พร้อมด้วย นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม ร่วมจัดนิทรรศการสร้างความรอบรู้ เรื่อง การดูแลสุขภาพตนเองจากฝุ่น PM 2.5 ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย
แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในภาคเหนือ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยมี PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในระดับสีแดง คือมากกว่า 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องติดกันหลายวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยในปี 2566 ในเขตสุขภาพที่ 1 พบว่า ผู้ป่วยมารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล ข้อมูลจากสำนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ 1 เชียงใหม่. พบอัตราผู้ป่วยสะสมด้วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด 8,297 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 8,029 กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) 633.67 กลุ่มโรคอัมพาตฉับพลัน (Stroke) 361.86 และ กลุ่มโรคหืด (Asthma) 294.74 (8,124) ต่อแสนประชากรตามลำดับ
กรมอนามัยได้มีคำแนะนำและสนับสนุนให้ประชาชนมี “พื้นที่ปลอดฝุ่นหรือห้องปลอดฝุ่นที่บ้าน”เพื่อลดการสัมผัส PM2.5 ในสถานการณ์ที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งมีห้องปลอดฝุ่นที่ 3 รูปแบบ คือ 1) การป้องกันฝุ่นจากภายนอก (ปิดประตู หน้าต่าง) 2) มีระบบฟอกอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศ 3) ระบบเติมอากาศ หรือ แรงดันบวก อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงห้องปลอดฝุ่นที่บ้านโดยการใช้เครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier) และ เติมอากาศสะอาดนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งไม่เหมาะสมกับลักษณะบ้านในชนบทหรือผู้มีรายได้น้อยที่ห้องมีลักษณะโล่ง มีรูรั่ว หรือผนังห้องไม่มิดชิด กรมอนามัย ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. ภาสกร แช่มประเสริฐ และ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาต้นแบบ“มุ้งสู้ฝุ่น” โดยอาศัยหลักการเติมอากาศสะอาดจากเครื่องกรองอากาศ ส่งเข้าไปภายในมุ้ง ตามหลักการของการทำห้องแรงดันอากาศบวก (Positive Pressure) โดยใน “มุ้งสู้ฝุ่น” หนึ่งชุดจะต้องประกอบไปด้วย มุ้งผ้าฝ้าย และ เครื่องฟอกอากาศแบบ DIY ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองอากาศและส่งอากาศสะอาดเข้าไปในมุ้งผ้าฝ้าย
กรมอนามัย มีความห่วงใย พี่น้องประชาชน จึงได้มอบ “มุ้งสู้ฝุ่น” ให้กับจังหวัดเชียงราย โดย นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4จังหวัดเชียงราย และ นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อจะได้ส่งต่อและดูและกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1) กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก 2) กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ผู้สูงอายุติดเตียง และผู้ป่วยติดเตียง และ 3) กลุ่มผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายต่อไป
***
กรมอนามัย / 15 กุมภาพันธ์ 2568