วันนี้ (23 มีนาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ชุมนุมในกทม. ว่า ได้มอบภารกิจให้เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังรับผิดชอบติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง โดยผู้ชุมนุมสามารถเข้าร่วมชุมนุมได้ตามกฎหมาย หากใครรู้ตัวว่าป่วย ควรงดร่วมชุมนุม และขอให้ไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่น ทำให้ผู้ชุมนุมคนอื่นติดเชื้อไปด้วย

“เรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 นี้ไม่ควรประมาท เนื่องจากเชื้อติดต่อกันง่าย โดยจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปี 2553 ลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีประสบการณ์ในการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งมีวัคซีนเข้ามาช่วย และกำลังรณรงค์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มเข้ามาฉีดวัคซีนให้มากขึ้น สำหรับผู้ชุมนุมถือว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เช่นเดียวกับผู้ที่เข้าไปชมคอนเสิร์ต เพราะมีคนอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สื่อมวลชนเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดทุกชนิด ไม่เฉพาะไข้หวัดใหญ่ 2009 เท่านั้น เนื่องจากต้องทำงานหนัก อาจพักผ่อนไม่พียงพอคือนอนไม่ถึง 8 ชั่วโมง ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกเรื่องหนึ่ง คือความสะอาดของไมโครโฟน และเทปอัดเสียง ซึ่งเป็นเครื่องมือใช้ทำงานที่อยู่ใกล้ตัวสื่อมวลชนที่สุด อุปกรณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ อาจมีเชื้อไวรัสสะสมได้ เนื่องจากต้องยื่นสัมภาษณ์ใกล้ปากเพื่ออัดเสียงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะไมโครโฟนอาจปนเปื้อนน้ำลายสะสมเชื้อโรค ทั้งของสื่อมวลชนเอง และผู้ให้สัมภาษณ์ หากเป็นผู้ที่กำลังป่วยด้วยไข้หวัด เชื้อไวรัสจะออกมากับน้ำลายได้ ดังนั้น ภายหลังใช้งานแล้ว ขอแนะนำให้เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ และขอแนะนำให้สื่อมวลชนล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือพกเจลแอลกอฮอล์ขณะเดินทางไปปฏิบัติงานด้วย เพื่อให้สามารถใช้การได้ทันที ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 เมื่อพูดคุยกัน เชื้อที่อยู่ในละอองฝอยน้ำลาย จะสามารถกระจายในอากาศได้ไกล 1-2 เมตร หากเชื้อติดที่มือจะมีชีวิตอยู่ได้นาน 5 นาที หากติดอยู่ตามพื้นผิวสิ่งของต่างๆ จะอยู่ได้นาน 2-8 ชั่วโมง โดยผู้ที่ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุดในช่วงที่ป่วย 3 วันแรก จากนั้นการแพร่เชื้อจะลดลงเมื่ออาการทุเลาขึ้น ส่วนใหญ่มักไม่เกิน 7 วัน

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้ยังคงมีการระบาดในหลายพื้นที่ ทั้งในเขตเมืองและชนบท และพบได้ตลอดปี แม้ว่าสภาพอากาศจะร้อนก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ก็สามารถแพร่ระบาดได้ และอาจแพร่ได้ง่าย เนื่องจากประชาชนอาจมีสภาพร่างกายอิดโรย อ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำทางเหงื่อ ดังนั้นหากประชาชนรายใดป่วย ขอให้ไปพบแพทย์ และหยุดพักที่บ้านจนกว่าจะหายขาด

*********************************** 23 มีนาคม 2553



   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ