วันนี้ (22 มีนาคม 2553) ที่ลานกิจกรรมแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ 180 นาที หลีกอัมพาต ว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง (Stroke)ปีละกว่า 150,000 คน เสียชีวิตปีละกว่า 3 หมื่นคน  หรือเสีย ชีวิตประมาณชั่วโมงละ 4 คน   และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น      โดยอายุผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 55-65 ปี

                           ในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันอย่างเฉียบพลัน สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้เปิดช่องทางด่วนเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เรียกว่า   สโตรค ฟาสต์ แทร็ค (Stroke Fast Track) โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่ผู้ป่วยหลังเกิดอาการภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้สมองที่ขาดเลือดมีเลือดกลับมาเลี้ยงให้เร็วที่สุด จะทำให้สมองส่วนที่ขาดเลือดมีขนาดเล็กที่สุด มีผลให้ความพิการที่จะเกิดขึ้นมีน้อยที่สุด ซึ่งเป็นมาตรฐานการรักษาระดับทอง เป็นที่ยอมรับทั่วโลกและเป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข  โดยในปี 2551-2552 ได้ขยายเครือข่ายให้การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองให้มีมากขึ้น  ขณะนี้มีเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 15 แห่ง ได้แก่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศูนย์ขอนแก่น รพ.สระบุรี  รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ชลบุรี รพ.หาดใหญ่ รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี รพ.ศูนย์ลำปาง รพ.พระพุทธชินราช รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.พระมงกุฏเกล้า และสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  

                                 

                          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในปี 2553 นี้ จะผลักดันให้มีเครือข่ายรักษาโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มอีกในทุกโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศที่มีความพร้อม  โดยตั้งเป้าลดอัตราตายโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันทั่วประเทศ ให้มีไม่เกินร้อยละ 2   

                                

           ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคเอดส์ และการบาดเจ็บ โดยมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 10   ผู้ป่วยที่ไม่เสียชีวิต จะมีความพิการหลงเหลือเป็นจำนวนมาก  โดยอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญได้แก่ อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีกทันทีทันใด นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจภาษา ตามัวข้างเดียวทันทีทันใด ตามองเห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะร่วมกับเดินเซ ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ไม่รู้สึกตัว เมื่อพบอาการดังกล่าวต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ถึงแม้อาการจะหายไปได้เองก็ตาม
                 
          การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน มี 3 วิธี คือ การรักษาทางยา การผ่าตัด และทำกายภาพบำบัด ปัจจุบันมีการพัฒนาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่วิธีที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 3 ชั่วโมงแรกหลังจากมีอาการ ทั้งนี้ปัจจัยที่มีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ และโรคหัวใจบางชนิด เป้าหมายของโครงการนี้คือต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่จะต้องเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้กลับมาสู่ชีวิตปกติได้ นายแพทย์เรวัตกล่าว
    ..............................     22 มีนาคม 2553


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ