รมว.สธ. นำคณะผู้บริหาร เยี่ยมให้กำลังใจการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมอนุมัติงบ 70 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงให้อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับความสะดวกในการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
วันนี้ ( 26 มกราคม 2550 ) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โรงพยาบาลแว้ง จังหวัดนราธิวาส และให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เป็นการมาเยี่ยมเยียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามปกติเดือนละ 1 ครั้ง ยกเว้นมีภารกิจด่วนก็จะมาเพิ่มมากกว่านั้น ส่วนใหญ่มาดูบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขว่า ประชาชนในเขต 3 จังหวัดภาคใต้ กับ 4 อำเภอของสงขลา มีปัญหาในการบริการประชาชนอย่างไรบ้าง แล้วทางกระทรวงสาธารณสุข จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
โดยได้พบปะกับหัวหน้าชุมชน เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ แล้วไปสรุปการหาวิธีการดำเนินการแก้ไขปัญหา จากการไปเยี่ยมอำเภอยี่งอ ซึ่งเป็นอำเภอมานานกว่า 30 ปีแต่ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ ประชาชนในพื้นที่มีอยู่กว่า 40,000 คน ต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์และโรงพยาบาลบาเจาะ ที่อยู่ห่าง 20-30 กิโลเมตร ซึ่งไม่สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประชาชนจึงได้บริจาคที่ดินให้กับทางราชการ จำนวน 12 ไร่ เพื่อจะให้ก่อสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ ซึ่งจากการพูดคุยกันระหว่างประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อบต. ทางกระทรวงสาธารณสุขตกลงจะรีบสร้างโรงพยาบาลให้กับอำเภอยี่งอ แม้จะไม่มีงบประมาณตั้งไว้ และจะสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะให้ประชาชนไม่ต้องรอนานถึง 2 ปี ในเบื้องต้นจะเปิดบริการ 10 เตียงก่อน โดยจะใช้งบประมาณที่มีอยู่ จำนวน 70 ล้านบาท สร้างอาคาร ที่พักเจ้าหน้าที่ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ส่วนรั้วโรงพยาบาลและการปรับภูมิทัศน์ของโรงพยาบาล การดูแลความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของประชาชนในพื้นที่อำเภอยี่งอ นับเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่บอกได้ว่า เมื่อไปดูในพื้นที่พบว่าประชาชนขาดการบริการอะไร ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะไปเสริมให้ในส่วนนั้น
สำหรับการเยียวยาผู้ที่ถูกผลกระทบจากการทำงาน จากภาวะวิกฤต ไม่ว่าประชาชนหรือข้าราชการที่ปฏิบัติงานมีปัญหา จะใช้แนวทางในการพัฒนาสุขภาพจิตชุมชน เข้าไปเยียวยารักษา โดยให้ศูนย์สุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิตรับผิดชอบ และจะหารือรายละเอียดในการให้บริการต่อไป ในเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ให้บริการในระดับต่าง ๆ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ แม้จะไม่ครบถ้วนเสียทีเดียว ก็นับว่ามีความพร้อมไม่แพ้ภาคอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลได้ให้เน้นหนักใน 3 จังหวัดภาคใต้ ทั้งเรื่องคน ของ งบประมาณ จัดเป็นอันดับหนึ่งได้ก่อนพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งจากการมาดูในพื้นที่จะเห็นว่าขาดอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากกว่าภาคอื่น ๆ
ในเรื่องขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่จากการตรวจเยี่ยมพบว่า ไม่เสียขวัญ แม้ว่าจะมีความยุ่งยากในการทำงานมาก และอยากขอกล่าวความชื่นชมว่า ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่คนในพื้นที่เท่านั้นที่ให้บริการประชาชน
ยังมีข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่มาจากภาคอื่นๆด้วย เช่น นครราชสีมา หนองคาย ลำพูน ก็มาช่วยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ อสม. ภาคอีสานยังขอมาร่วมทำงานกับ อสม. ใน 3 จังหวัดภาคใต้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นปัญหาของคนภาคใต้ แต่เป็นปัญหาของคนทุกคนในแผ่นดินไทย ขอให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน ทุกคนทำงานอย่างดีที่สุด ในการให้บริการประชาชนคนไทยทุกคนห่วงใยและฝากกำลังใจมาให้
มกราคม7/5 *************************** 26 มกราคม 2550
View 11
26/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ