จากข่าวการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผสมสารเคตามีน หรือที่เรียกกันว่า "พอตเค" ในสถานบันเทิงย่านกรุงเทพฯ กรมควบคุมโรคออกประกาศเตือนถึงอันตรายร้ายแรงจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
           วันนี้ (24 มกราคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้า ที่ผสมสารเคตามีนเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์และจอห์นส์ฮอปกินส์ในสหรัฐฯ พบว่า สารเคตามีนเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติโดยเฉพาะในส่วนควบคุมอารมณ์ ความจำ และการตัดสินใจ ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนการรับรู้ผิดปกติ และควบคุมพฤติกรรมไม่ได้
        นายแพทย์ภาณุมาศ เน้นย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าผสมเคตามีนมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูงมาก เนื่องจากในบุหรี่ไฟฟ้า มีนิโคตินซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง เมื่อผสมกับเคตามีนที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเสพติด และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น อาการประสาทหลอน นำไปสู่โรคจิตเภท เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ความดันโลหิตสูง กระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงขอฝากให้ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าควรเลิกสูบ และผู้ที่คิดจะสูบบุหรี่ไฟฟ้า โปรดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ขออย่าหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ และอย่าตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายที่ถูกห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่าย ในประเทศ โดยหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนเพื่อรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่ 1600


***************************
ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค 
วันที่ 24 มกราคม 2568 


แหล่งที่มา

  •     กองควบคุมวัตถุเสพติด. (2566). ยาเค (Ketamine). สืบค้น 13 มกราคม 2568
        จาก https://narcotic.fda.moph.go.th/information-about-drugs/ketamine
  •     Schep, L. J., Slaughter, R. J., Watts, M., Mackenzie, E., & Gee, P. (2023). The clinical toxicology of ketamine. DOI: 10.1080/15563650.2023.2212125.
  •    Rowland LM, Beason-Held L, Tamminga CA, Holcomb HH. The interactive effects of ketamine and nicotine on human cerebral blood flow. Psychopharmacology (Berl). 2010 Mar;208(4):575-84. doi: 10.1007/s00213-009-1758-2. PMID: 20066400; PMCID: PMC2891406.

 



   
   


View 34    24/01/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ