รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดระบบบริการแพทย์แผนไทยเคียงข้างการแพทย์แผนปัจจุบัน เพิ่มทางเลือกประชาชนใช้บริการที่ได้มาตรฐาน ในปีนี้เตรียมส่งแพทย์แผนไทยระดับปริญญาตรี 700 คน ลงประจำการโรงพยาบาลทุกระดับถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจังหวัดละ 2-3 โรงพยาบาล และพัฒนาโรงพยาบาลต้นแบบแพทย์แผนไทยภาคละ 1 แห่ง

วันนี้ (4 มีนาคม 2553) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในเรื่องการบริหารจัดการ การบริการประชาชน รวมทั้งปัญหาอุปสรรคอื่นๆ เพื่อให้งานโรงพยาบาลดำเนินการไปด้วยดี

นางพรรณสิริกล่าวว่า กระแสการใช้บริการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของประเทศไทย ขณะนี้ ได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการพัฒนามาตรฐานบริการให้เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนไทย รวมทั้งก้าวถึงระดับนานาชาติให้มากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งศึกษาวิจัยระบบการแพทย์แขนงนี้ รวมทั้งสมุนไพรไทย เพื่อต่อยอดให้ถึงการผลิตและใช้ในสถานพยาบาลอย่างครบวงจร งานวิจัยทุกชิ้นจะไม่ทิ้งขึ้นหิ้งอีกต่อไป ซึ่งการวิจัยนี้จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่จะใช้อ้างอิงคุณสมบัติภูมิปัญญาไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถใช้จดสิทธิบัตรเป็นของประเทศไทย ไม่ให้ตกเป็นสมบัติของชาติอื่นเหมือนที่เคยสูญเสียไปแล้วหลายตัว หญ้าเปล้าน้อย กวาวเครือ เป็นต้น โดยได้มอบให้นายธีระชัย พันธุมาศ คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลด้านกฎหมายอย่างใกล้ชิด

นางพรรณศิริกล่าวต่อว่า ในด้านการพัฒนาบริการในปีนี้ จะมีนักศึกษาแพทย์แผนไทยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทั่วประเทศจำนวนกว่า 700 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 400 คนเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนจะจัดส่งแพทย์แผนไทยกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นหมอแผนไทยรุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ จะกระจายไปประจำการที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ลงไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลด้วย อย่างน้อยจังหวัดละ 2-3 แห่ง ซึ่งจะทำให้การแพทย์แผนไทยมีการนำมาใช้ในภาคบริการทางการแพทย์กว้างขวางยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายจะพัฒนาโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบให้มีภาคละ 1 แห่ง ซึ่งจะมีบริการหลากหลาย เช่น การนวด สปา การพัฒนายาสมุนไพร รวมถึงเวชสำอาง อาหารจากสมุนไพร โดยภาคเหนือจะตั้งที่จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดสกลนคร ภาคกลางที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งมีความก้าวหน้ามาก สามารถส่งเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทยจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น ทำรายได้เข้าประเทศปีละ 2 ล้านบาท ส่วนภาคใต้อยู่ระหว่างการพิจารณาอาจเป็นที่จังหวัดชุมพรหรือสุราษฎร์ธานี และจะส่งเสริมการผลิตยาไทยและยาสมุนไพร ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและโรงงานผลิตยาภาคเอกชน ให้ได้มาตรฐานมาตรฐานจีเอ็มพี อาเซียน (GMP ASEAN) สามารถส่งจำหน่ายทั่วโลกได้ ************************************* 4 มีนาคม 2553



   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ