สธ. ส่งทีม MSERT เร่งฟื้นฟู 4 รพ.ชุมชน ในปัตตานี หลังระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

          รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย "น้ำท่วม" ภาคใต้ สถานพยาบาลได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 124 แห่ง ส่วน รพ.ชุมชนในปัตตานี 4 แห่ง แนวโน้มระดับน้ำเริ่มลดลง ส่งทีม MSERT เร่งฟื้นฟูเพื่อให้กลับมาบริการได้เร็วที่สุด กำชับเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม และจากการอยู่รวมกันของคนหมู่มากในศูนย์พักพิง ส่วน 5 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินถล่ม ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล ให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

          วันนี้ (1 ธันวาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 37/2567 ว่า ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 6 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ในรอบวันที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย บาดเจ็บสะสม 12 ราย และสูญหายอีก 1 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 124 แห่ง ได้แก่ สงขลา 32 แห่ง ปัตตานี 38 แห่ง ยะลา 28 แห่ง และนราธิวาส 26 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น รพ.สต. ในจำนวนนี้สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ 12 แห่ง ปิดบริการบางส่วน 8 แห่ง และปิดบริการทั้งหมด 104 แห่ง โดยโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่งในปัตตานี ได้แก่ รพ.ยะหริ่ง รพ.ทุ่งยางแดง รพ.หนองจิก และรพ.แม่ลาน ที่ปิดบริการไปนั้น ระดับน้ำเริ่มมีแนวโน้มลดลง ทีมปฏิบัติการสนับสนุนระบบบริการด้านสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน (MSERT) ได้วางแผนเข้าฟื้นฟูระบบไฟฟ้า ระบบประปา อุปกรณ์การแพทย์ โรงซักฟอก และหน่วยจ่ายกลาง ช่วงวันที่ 1-8 ธันวาคมนี้ เพื่อให้กลับมาบริการผู้ป่วยได้เร็วที่สุด

           นพ.ศักดากล่าวต่อว่า หน่วยงานในพื้นที่มีการจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขออกให้บริการประชาชน ทั้งเยี่ยมบ้าน ให้สุขศึกษา ตรวจรักษา และส่งต่อ รวมทั้งสิ้น 69,741 ราย โรคที่พบมากสุด คือ น้ำกัดเท้า ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน สำหรับกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลรวม 8,151 ราย มากสุดคือ ผู้สูงอายุ 4,593 ราย รองลงมา ผู้พิการ 2,034 ราย ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 811 ราย หญิงตั้งครรภ์  91 ราย และอื่นๆ (จิตเวช/ฟอกไต ฯลฯ) 622 ราย ส่วนการให้บริการด้านสุขภาพจิต จากการตรวจคัดกรอง 5,320 ราย พบมีภาวะเครียดสูง 5 ราย เจ้าหน้าที่ได้ให้การดูแลแล้ว นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ได้แก่ นครราชสีมา พิษณุโลก อ่างทอง หนองคาย ตาก นนทบุรี บึงกาฬ เชียงราย และสถาบันโรคผิวหนัง ยังสนับสนุนยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 15,748 ชุด และยารักษาน้ำกัดเท้า 16,308 ชิ้น ลงช่วยเหลือพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ยังไม่พบการระบาดของโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม แต่ได้กำชับให้มีการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นจากการอยู่รวมกันของคนหมู่มากในศูนย์พักพิงทั้ง 434 แห่ง และให้ 5 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินถล่ม ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย

**************************************1 ธันวาคม 2567



   
   


View 161    01/12/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ