สธ.กำชับประเมินสุขภาพ “กลุ่มเปราะบาง” ในศูนย์พักพิง ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อ
- สำนักสารนิเทศ
- 158 View
- อ่านต่อ
นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสถานการณ์ "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับกระทรวงสาธารณสุขดูแลผู้ประสบภัยด้านสุขภาพกายและจิตอย่างเต็มที่ เน้นกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด ด้านรัฐมนตรีสมศักดิ์สั่งยกระดับป้องกันผลกระทบสถานพยาบาล แจ้งจุดบริการทดแทนหากต้องปิดบริการชั่วคราว เผย มีโรงพยาบาลรับผลกระทบ 7 แห่ง ปิดบริการ 2 แห่ง ประสานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแล้ว ขณะที่รัฐมนตรีช่วยเดชอิศม์ ลงติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ยันระบบสาธารณสุขมีความพร้อมทั้งหมด
วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์อุทกภัยทางภาคใต้อย่างมาก ล่าสุดได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างเต็มที่โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งตนได้มีข้อสั่งการถึงสำนักงานเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพื้นที่ประสบภัย นอกจากการป้องกันน้ำท่วมในสถานพยาบาล กรณีต้องปิดบริการชั่วคราว ให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือจุดบริการสำรอง และแจ้งให้ประชาชนทราบ รวมถึงแจ้งประชาชนเรื่องการจัดบริการทดแทนของหน่วยบริการนอกสังกัดด้วยและให้ประสานการจัดหายานพาหนะทั้งรถหรือเรือ กรณีจำเป็นต้องอพยพผู้ป่วยในไปยังโรงพยาบาลรับส่งต่อ การเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางไปยังศูย์อพยพหรือโรงพยาบาลที่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ ให้สื่อสารความเสี่ยงในการป้องกันภัยจากน้ำท่วม ทั้งการจมน้ำ ไฟดูด แมลง สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์มีพิษกัดต่อยด้วย สำหรับโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วง แม้จะยังไม่มีสัญญาณการเกิดโรค แต่ได้ให้เฝ้าระวังต่อเนื่อง โดย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ ประสบอุทกภัยในภาคใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์และดูแลความพร้อมระบบสาธารณสุขแล้ว ตั้งแต่วันที่
28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ขณะนี้มีผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย จากน้ำท่วม 3 ราย และไฟดูด 1 ราย สถานพยาบาลได้รับผลกระทบ 7 แห่ง ได้แก่ จ.สงขลา 3 แห่ง คือ รพ.สมเด็จพระยุพราชนาทวี, รพ.จะนะ และ รพ.เทพา จ.ปัตตานี 4 แห่ง คือ รพ.โคกโพธิ์, รพ.ยะหริ่ง, รพ.ทุ่งยางแดง และ รพ.หนองจิก จำนวนนี้ปิดบริการ 2 แห่ง คือ รพ.ยะหริ่ง โดยย้ายไปให้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในตลาดยะหริ่งแทน และย้ายผู้ป่วยไป รพ.ยะรัง 5 ราย รพ.ปัตตานี 3 ราย ส่วน รพ.หนองจิก มีน้ำท่วมเข้าหอผู้ป่วยและห้องฉุกเฉิน ได้ย้ายผู้ป่วย 18 รายมาที่ รพ.ปัตตานีด้วยรถทหาร 17 ราย และกลับบ้านได้ 1 ราย อีก 5 แห่งที่เหลือเปิดบริการได้ตามปกติ ส่วนการดูแลด้านสาธารณสุข มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 68 ทีม ดูแลประชาชนรวม 2,011 ราย จัดทีมดูแลเยียวยาจิตใจ (MCATT) 112 ทีม ตั้งศูนย์พักพิง 47 แห่ง ที่ยะลา 15 แห่ง นราธิวาส 27 แห่ง สงขลา 5 แห่ง รองรับคนได้ 4,500 คน เข้าพักแล้ว 2,217 คน ให้การดูแลกลุ่มเปราะบางแล้ว 1,664 ราย ได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 640 ราย ผู้พิการ 3 ราย หญิงตั้งครรภ์ 462 ราย ผู้สูงอายุ 20 ราย และอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยฟอกไต เป็นต้น 539 ราย พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนเวชภัณฑ์เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า 1,600 หลอด และยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 5,650 ชุด
ด้านนายเดชอิศม์ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ในภาคใต้เพื่อรับทราบสถานการณ์จริงและให้กำลังใจประชาชน พบว่าระบบสาธารณสุขมีความพร้อมอย่างดี ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ หน่วยงานสาธารณสุขได้ระดมทีมดูแลพี่น้องประชาชนเต็มที่ อย่างเช่นที่จังหวัดสงขลา มีการออกเยี่ยมบ้าน 2,934 หลัง แจกยา 2,322 ชุด ออกให้สุขศึกษา 3,567 ราย ตรวจรักษา 685 ราย ประเมินสุขภาพจิต 1,101 ราย ส่งต่อรักษายังโรงพยาบาลที่สามารถจัดบริการได้ 10 ราย ได้เน้นย้ำเรื่องการดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิดตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ล่าสุด มีการติดตาม/เยี่ยมบ้านแล้ว 491 ราย ดูแลให้รับยาต่อเนื่อง และมีบางส่วนที่ส่งต่อรักษาไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักพิง 11 แห่งที่เปิดไว้รองรับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม มีผู้เข้าพักแล้ว 1,890 ราย โดยวันนี้เทศบาลนครหาดใหญ่มีการประกาศยกระดับพื้นที่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นธงแดงทั้งหมด จึงได้กำชับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เร่งดูแลช่วยเหลือประชาชนแล้ว
************************************29 พฤศจิกายน 2567