นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่การตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทเกินเกณฑ์มาตรฐานนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิธีการลดสารเคมีตกค้างในองุ่น โดยการล้างองุ่น 3 วิธี ที่ทำได้ง่าย สะดวกในการนำไปใช้ในครัวเรือน โดยสุ่มเก็บตัวอย่างองุ่น จำนวน 6 ตัวอย่าง จากตลาดและแผงร้านค้าผลไม้ แบ่งเป็น องุ่นไชน์มัสแคทและองุ่นแดงไร้เมล็ดอย่างละ 3 ตัวอย่าง นำมาตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด 

โดยวิธี QuEChERS ด้วยเทคนิค GC-MS/MS และ LC-MS/MS ที่ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC : 17025 : 2017 พบว่า กลุ่มตัวอย่างองุ่นที่ไม่ได้ล้างน้ำพบสารเคมีตกค้างทั้งสิ้น 28 ชนิด เป็นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีสมบัติการละลายน้ำได้ดี จำนวน 23 ชนิด ได้แก่ acetamiprid, azoxystrobin, boscalid, bupirimate, carbendazim, clothianidin, dimethomorph, ethirimol, etoxazole, fenbuconazole, fludioxonil, fluopyram, imazalil, indoxacarb, lufenuron, metrafenone, penconazole, pyraclostrobin, pyrimethanil, tebuconazole, tetraconazole, thiamethoxam และ trifloxystrobin  ในช่วงปริมาณ น้อยกว่า 0.01-0.460 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีสมบัติการละลายน้ำได้น้อยถึงปานกลาง จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ bifenthrin chlorfenapyr, chlorpyrifos, lambda-cyhalothrin และ metalaxyl ในช่วงปริมาณ น้อยกว่า 0.01-0.057 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม


นายแพทย์ยงยศ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาวิธีล้างองุ่น 3 วิธี พบว่า วิธีที่ 1. ล้างน้ำสะอาด สามารถลดสารตกค้างได้ 8% - 66% วิธีที่ 2. ล้างน้ำสะอาดผสมผงฟู (น้ำ 4 ลิตร ผสมผงฟู 1 ช้อนชา) ลดได้ 36% - 75% และวิธีที่ 3. ล้างน้ำสะอาดผสมเกลือแกง (น้ำ 4 ลิตร ผสมเกลือแกง 1 ช้อนโต๊ะ) ลดได้ 14% - 72% โดยประสิทธิภาพการลดสารตกค้างขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีและปริมาณที่ตกค้างของสารแต่ละชนิด
 


ดังนั้น วิธีการล้างองุ่นที่ง่าย และสามารถลดสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้มาก ทั้งสารเคมีตกค้างชนิดดูดซึมและไม่ดูดซึม  แนะนำให้ล้างโดยแช่น้ำที่ผสมผงฟู 30 นาที แล้วล้างด้วยน้ำไหล 1 นาที รวมทั้งขัดถูบริเวณผิวนอก เพื่อให้สารตกค้างหลุดออกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการบริโภคองุ่นต่อวันในปริมาณมากต่อเนื่องเป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการได้รับสารตกค้าง และได้รับปริมาณน้ำตาลต่อวันมากเกินไปจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ



   


View 49    21/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์