ไทย เปิดเวทีประชุมเครื่องสำอางอาเซียน ครั้งที่ 40 ดันมาตรฐานสู่สากล สร้างความมั่นใจผู้บริโภค
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 19 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี เชิญชวนญาติสายตรงผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้แก่ แม่ พี่สาว น้องสาว หรือ ลูกสาว ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม(Mammogram) และอัลตราซาวด์ฟรี เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจวินิจฉัย และสามารถเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ภัยของมะเร็งเต้านม” ซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี สำหรับประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย จากข้อมูลในปี พ.ศ.2563 พบว่ามีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี สำหรับสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย และดื่มสุรา รวมถึงบางปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น การสังเกตความผิดปกติของเต้านมควรทำทุกเดือนเดือนละครั้ง อาการหรือสัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงทุกคนสามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง ได้แก่ การมีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบุ๋ม ผิวหนังบวม แดงขึ้น หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้ง มีผื่นหรือแผลที่เต้านมและหัวนม มีน้ำหรือเลือดไหลออกจากหัวนม หากพบอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
แพทย์หญิงนิธิมา ศรีเกตุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อเสนอจาก Service plan สาขาโรคมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่าหากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ มีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษา มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตสูง โดยมีอัตรารอดชีวิตสำหรับมะเร็งเต้านมระยะแรก ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 คิดเป็น ร้อยละ 94.40, 85.00, 56.60 และ 28.30 ตามลำดับ ทำให้ในปี 2567 ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ได้อนุมัติชุดสิทธิประโยชน์ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมะเร็งเต้านม สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ ฟรี สำหรับหญิงไทยอายุ 40 ปีขึ้นไปทุกสิทธิการรักษา ที่เป็นญาติสายตรงของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้แก่ แม่ พี่สาว น้องสาว หรือ ลูกสาว เพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ ได้รับการตรวจวินิจฉัยและเข้าสู่ขั้นตอนรักษาตั้งแต่ระยะแรก ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี ได้จัดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ในวันเวลาราชการ ทั้งรูปแบบ Walk in และการนัดหมายคิวตรวจล่วงหน้าผ่าน Line Official Account : SCH Connect สามารถรับผลการตรวจหลังตรวจเสร็จ รวมทั้ง มีการแจ้งผลตรวจในมือถือผ่าน Application : SCH Easy
#โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี #กรมการแพทย์ #คัดกรองมะเร็งเต้านมญาติสายตรง #SCH Connect -ขอขอบคุณ - 21 พฤศจิกายน 2567