กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้การดูแลทารกแรกเกิด ต้องระมัดระวังเนื่องจากร่างกายลูกน้อยในขวบปีแรก ร่างกายยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ดังนั้น การอุ้มลูกด้วยท่าอุ้มลูกที่ถูกวิธีจะส่งผลดีต่อโครงสร้างและพัฒนาการด้านร่างกาย รวมถึงจิตใจของลูก เพื่อทำให้ลูกน้อยสามารถรู้สึกปลอดภัย

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันทร์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกไว้ว่า “การเขย่าเด็กแรงๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็ก โดยเฉพาะทารกวัย 3 - 8 เดือน ได้รับบาดเจ็บทางสมองจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือทำให้เด็กพิการตลอดชีวิต เช่นปัญหาทางสายตา ลมชัก การเรียนรู้ และสติปัญญา เนื่องจาก กล้ามเนื้อคอของทารกยังไม่แข็งแรง เมื่อคอและศีรษะถูกเหวี่ยงไปมา โดยการเขย่าจะทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง การเคลื่อนไหวและกระตุกอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อสมองได้รับอันตรายได้

นายแพทย์อัครฐาน  จิตนุยานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า การอุ้มทารกด้วยท่าอุ้มที่ถูกวิธี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะร่างกายลูกน้อยในขวบปีแรกยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ดังนั้น การอุ้มลูกด้วยท่าอุ้มลูกที่ถูกวิธีจะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูก ทำให้ลูกน้อยสามารถรู้สึกปลอดภัย สามารถสัมผัสความรัก ความอบอุ่น และช่วยสร้างความไว้วางใจระหว่างคุณพ่อคุณแม่และบุคคลใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี โดยท่าที่ใช้อุ้มทารก โดยเฉพาะวัยแรกเกิดถึง
3 เดือน มีดังนี้
1. ท่าอุ้มไกวเปล เป็นวิธีทั่วไปในการอุ้มลูกน้อยด้วยจังหวะอ่อนโยนมีความเป็นธรรมชาติและง่ายที่สุด สามารถสบตาลูกน้อยได้โดยตรง สื่อถึงความรัก ความผูกพันได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่และเป็นท่าที่ใช้ให้นมลูกได้อีกด้วย 2.ท่าอุ้มพาดบ่า ทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย อีกทั้งสามารถเหยียดตัวได้อย่างสบาย ๆ โดยสามารถใช้ท่าอุ้มท่านี้หลังให้นมและช่วยให้ทารกเรอได้ 3.ท่าอุ้มนอนคว่ำ เป็นท่าที่ใช้อุ้มลูกน้อยเพื่อกล่อมให้พวกเขานอนหลับและช่วยให้เรอได้ 4.ท่าอุ้มหันหน้าเข้าหากัน เป็นการอุ้มทารกที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ สามารถสื่อสารกับเจ้าตัวเล็กได้ดีที่สุด เนื่องจากสามารถสบตากันได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

 พว.ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยใน  กล่าวเพิ่มเติมว่า การอุ้มลูกทารก ผู้อุ้มต้องไม่เกร็งและรู้สึกมั่นใจ โดยใช้มือประคองคอ ศีรษะและลำตัวของทารกเสมอ เพียงเท่านี้เจ้าตัวเล็กก็สามารถสัมผัสถึงสายใยแห่งรักได้อย่างเต็มที่  และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขย่าตัวเด็กเพื่อกล่อมนอน หรือถ้าเป็นเด็กแรกเกิดสามารถตรวจประเมินสภาพการตอบสนองทั่วไปของเด็ก อาจจะใช้วิธีลูบสัมผัสเบาๆ  อย่างไรก็ตามก่อนอุ้มทารกน้อยทุกครั้ง อย่าลืมล้างมือให้สะอาด เพราะระบบภูมิคุ้มกันของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ เชื้อโรคที่ติดอยู่ตามมือของเราอาจทำให้ทารกป่วยได้

#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี #การอุ้มทารกแรกเกิดอย่างอ่อนโยน ไม่เขย่าตัว ช่วยทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัย          8  พฤศจิกายน 2567



   


View 152    08/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์