สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 88 View
- อ่านต่อ
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ กระทรวงสาธารณสุข ออกข้อสั่งการดูแลประชาชนพื้นที่ประสบอุทกภัย ติดตามดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพจิต อย่างใกล้ชิด ป้องกันโรคติดต่อนำโดยแมลงในพื้นที่น้ำท่วมขัง และประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดทำข้อมูลศูนย์พักพิงชั่วคราวและกลุ่มเปราะบาง พร้อมดูแลด้านสุขาภิบาล
วันนี้ (10 ตุลาคม 2567 ) ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทภภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 22/2567 โดยกล่าวว่า ล่าสุดยังคงมีสถานการณ์ใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก ตาก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก อ่างทอง สุพรรณบุรี และกาฬสินธุ์ โดยรอบ 24ชั่วโมงที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ใหม่ใน อุทัยธานี และกาฬสินธุ์ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ภาพรวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 69 ราย บาดเจ็บสะสม 2,419 ราย และสูญหาย 2 ราย สถานบริการได้รับผลกระทบ 108 แห่ง ในจำนวนนี้ยังต้องปิดบริการ 3 แห่ง คือ รพ.ค่ายกาวิละ, รพ.เซ็นทรัลเชียงใหม่ เมโมเรียล จ.เชียงใหม่ และ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร มีการเปิดศูนย์พักพิง 99 แห่ง ผู้รับบริการ 1,995 ราย มากสุดอยู่ใน จ.เชียงใหม่ 71 แห่ง ผู้รับบริการ 1,606 ราย
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลประชาชนด้านสุขภาพจิต ข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ได้ออกประเมินสุขภาพจิตประชาชน 10,032 ราย พบผู้มีภาวะเครียดสูง 106 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 17 ราย หลังให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจแล้วมีผู้ที่ต้องส่งต่อพบแพทย์ จำนวน 18 ราย ที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสวนปรุง และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ติดตามดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายอย่างใกล้ชิด ขณะที่ จ.ลำพูน ซึ่งรับมวลน้ำจากเชียงใหม่ พบว่าเริ่มมีปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำเน่าเสีย ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งรังโรค ได้มอบให้กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการป้องกันโรคติดต่อนำโดยแมลงในพื้นที่ รวมทั้งให้กองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มีการเปิดศูนย์พักพิง ประสานความร่วมมือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการบันทึกข้อมูลศูนย์พักพิงชั่วคราว ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง และดูแลด้านสุขาภิบาลต่อไป
*****************************************10 ตุลาคม 2567