แถลงการณ์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เรื่อง ผู้ป่วยเด็กหญิง 14 ปี เกิดเหตุเพลิงไหม้รถโดยสารทัศนศึกษา (ฉบับที่ 10)
- กรมการแพทย์
- 0 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ เคล็ดลับการดูแลสุขภาพกาย ใจ ผู้สูงวัย คนวัยเกษียณ ให้มีสุขภาพแข็งแรงแบบองค์รวม ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน เน้นการปรับอารมณ์ การรับประทานอาหาร การพักผ่อน และ การออกกำลังกายให้เหมาะสม จะทำให้ท่านมีสุขภาพกายและใจที่ดี หลังชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ
นายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้เกษียณซึ่งจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทางกรมจึงขอแนะนำ ศาสตร์การแพทย์แผนจีน ดูแลทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ แบบองค์รวม ซึ่งผู้สูงวัยมักมีลมปราณและอวัยวะภายในที่อ่อนแอ การเสริมสุขภาพผู้สูงวัยให้แข็งแรง ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีข้อแนะนำ คือ 1) ให้มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมตามความถนัดต่างๆ คิดในแง่บวก เพื่อให้สุขภาพจิตและกายที่ดี 2) ควรรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ทานอาหารให้หลากหลาย ทานอาหารรสอ่อนหรือจืด ควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน ทานอาหารปรุงสุกที่ทำสดใหม่ และ ทานอาหารให้อิ่มพอดี 3) การใช้ชีวิตประจำวันอย่างรอบคอบ เพราะผู้สูงวัยมีลมปราณและเลือดไม่เพียงพอ ดังนั้นผู้สูงวัยไม่ควรเครียด ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สวมเสื้อผ้าเหมาะสมกับสภาพอากาศ และรักษาสุขอนามัยให้ดี 4) การพักผ่อนให้เหมาะสม เพื่อให้ชี่และเลือดสมบูรณ์ ทำให้ร่างกายและจิตใจเป็นปกติ 5) การดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรมอันดีงาม และ 6) การออกกำลังกาย เนื่องจากในผู้สูงวัย ลมปราณและเลือดไหลเวียนช้า ดังนั้น ควรออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด การออกกำลังกายควรเป็นรูปแบบช้าๆ เช่น รำมวยไทเก๊ก ชี่กง ว่ายน้ำ เดินเบาๆ และควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 - 2 ครั้ง ครั้งละ 30 – 60 นาที โดยช่วงเวลาที่เหมาะกับการออกกำลังกาย คือ ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงหลังรับประทานอาหารเย็นประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
ในกรณี ผู้สูงวัยและผู้เกษียณ ที่มีอาการป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคดังกล่าว มีปัจจัยการเกิดโรคที่สำคัญจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีข้อแนะนำการรับประทานอาหาร ดังนี้ ไม่ควรทานอาหารต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และทานอิ่มแค่ร้อยละ 70 ควรทานอาหารแต่ละมื้อโดยมีหลักที่ว่า มื้อเช้าทานอาหารที่ดี มื้อกลางวันทานแต่พออิ่ม มื้อเย็นทานให้น้อย และหลังมื้ออาหารแนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยการย่อย เช่น ชาแดงเปลือกส้มซานจา ประกอบด้วย ชาแดง 2 กรัม เปลือกส้ม 9 กรัม และซานจา 7 กรัม สรรพคุณช่วยการย่อยอาหารจำพวกไขมันและโปรตีน ควรทานผักและผลไม้ และลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรทานอาหารรสจืด หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น หวาน มัน และเค็ม ซึ่งการทานอาหารรสชาติ ดังกล่าวมากเกินไปทำให้เกิดโรคได้ ควรหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารโดยการผัดหรือใช้น้ำมัน มาเป็นการลวกหรือนึ่งแทน และ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
นายแพทย์กุลธนิต กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ที่ใกล้จะเกษียณอายุ บางท่านยังปรับตัวไม่ทัน จึงอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจได้ ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีข้อแนะนำ คือ ควรปรับเปลี่ยนมุมมองหรือความคิดและสร้างทัศนคติคิดบวกผ่อนคลายอารมณ์ ทำกิจกรรมที่ทำให้สนุกเพลิดเพลิน การเข้าสังคม การฝึกฝนจิตใจให้ผ่อนคลาย เช่น การฝึกหายใจ การทำสมาธิ เพื่อเอาชนะความเครียด เลือกรับประทานอาหารที่ช่วยขับเคลื่อนลมปราณตับที่ติดขัดและช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว ส้มโอ ชามะนาว ผิวส้มซานจา และที่สำคัญควรปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ท่านก็จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีหลังชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ
...........................................25 กันยายน 2567……………........………………….