กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิด EOC สนับสนุนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ เร่งระดม ทีม SEhRT ศูนย์อนามัย สนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่จัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมลดความเสี่ยงสุขภาพของประชาชนที่ประสบภัย พร้อมเร่งสื่อสารให้ความรู้ สอนวิธีใช้ส้วมกล่องกระดาษ และชุด V-Clean ในช่วงวิกฤติ เพื่อให้ประชาชนที่ติดอยู่ในบ้านมีน้ำใช้ที่สะอาด และไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่จะทำให้เกิดโรคระบาดซ้ำช่วงน้ำท่วมได้

           วานนี้ (12 กันยายน 2567) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการประชุม EOC กรมอนามัย ว่า ขณะนี้มีพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ทำให้มีพื้นที่ประสบภัยถึง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก พิษณุโลก พิจิตร และอ่างทอง ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 19,578 ครัวเรือน โดยเฉพาะตอนนี้จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ยังเป็นพื้นที่ประสบภัยขั้นวิกฤติ  มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากดินโคลนถล่ม บางรายติดค้างอยู่ภายในบ้าน ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และขับถ่ายไม่สะดวก บางส่วนต้องเร่งย้ายออกจากบ้านไปยังศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านการดูแลสุขาภิบาล สุขอนามัย และสภาพแวดล้อมที่ดีมากพอ จากสถานการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว กรมอนามัย จึงมอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัย ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดเร่งสำรวจประเมินความเสี่ยง เฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ จัดการสุขาภิบาลและสุขอนามัย ได้แก่ ส้วมและสิ่งปฏิกูล ขยะ พื้นที่พักอาศัย พร้อมสนับสนุนชุด V-Clean ส้วมกล่องกระดาษ ชุด Sanitation toolkit ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ สำหรับใช้ในช่วงประสบภัยเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับน้ำท่วม

           "ทั้งนี้ น้ำท่วมในภาคเหนือที่เกิดขึ้นมักเป็นดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลากมา แล้วเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่จังหวัดที่อยู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว จึงให้ทีม SEhRT เตรียมสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ทำการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยสำรวจ ตรวจสอบความเสียหายของระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น ประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ตลอดจนกิจการที่มีประชาชน  ใช้บริการจำนวนมากทั้งตลาด ร้านจำหน่ายอาหาร โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กเพื่อเร่งปรับปรุงระบบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ สะอาด ปลอดโรค ปลอดภัยให้เร็วที่สุด และขอความร่วมมือทุกหน่วยงานเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากการเกิดภัยพิบัติมัก มาอย่างรวดเร็ว ไม่ทันตั้งตัว การรับฟังข่าวสาร หมั่นสังเกตความผิดปกติรอบตัว จะทำให้ประชาชนรู้ตัวเร็ว และสามารถหลบหนี อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งขอให้เน้นย้ำการสื่อสารสร้างความรอบรู้แก่ประชาชนผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคเชื้อราบนผิวหนัง โรคฉี่หนู ตลอดจนโรคที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคลงในอาหาร ทำให้อาหารเกิดการบูดเน่า เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป จึงทำให้เกิดภาวะโรคท้องเสียท้องร่วงต่อไป" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

***

กรมอนามัย / 13 กันยายน 2567



   
   


View 0    13/09/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย