รมว.สธ.ห่วงใยพระภิกษุสงฆ์สามเณรกว่าพันรูปได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในจ.เชียงรายและใกล้เคียง สั่งการโรงพยาบาลสงฆ์กรมการแพทย์ประสานพื้นที่ดูแลช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์สามเณรใกล้ชิด
- กรมการแพทย์
- 0 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (5 กันยายน 2567) ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้จัดการอาหารและวิถีชีวิต “โรงเรียนลด NCDs” พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย ดร. นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหาร วิทยากร และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เป็นจำนวนมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยด้านสุขภาพ เช่น อาหาร ออกกำลังกาย การนอน สุขภาพจิต เหล้า บุหรี่ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับสุขภาพคนไทย เพื่อป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วย โรค NCDs เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรค NCDs ที่สูญเสียปีละประมาณ 130,000 ล้านบาท อาหารและโภชนาการ เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และปัจจุบันมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยจึงจัดให้มีโรงเรียนลด NCDs ทั่วประเทศ เพื่อเน้นการส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และลดความแออัดในสถานพยาบาลได้อีกด้วย
“ทั้งนี้ โครงการอบรมผู้จัดการอาหารและวิถีชีวิต เป็นการผสมผสานหลักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเวชศาสตร์วิถีชีวิต โดยสร้างโรงเรียนลด NCDs หวังให้ครอบคลุม 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยผู้จัดการอาหารและวิถีชีวิตเป็นผู้ขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ซึ่งรุ่นที่ 1 จะเน้นโรงพยาบาลชุมชนก่อน และขยายผลให้ถึงระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลภาวะสุขภาพของคนวัยทำงาน กรมควบคุมโรค เกี่ยวกับภาวะอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศไทย ปี 2565 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นอันดับหนึ่งจากอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งอัตราการป่วยสะสมจากอดีตถึงปัจจุบัน คนไทยป่วยด้วยโรค NCDs สูงถึง 14 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า จำนวนคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs ต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ โรคมะเร็ง 127.9 คน โรคหัวใจขาดเลือด 45.4 คน โรคเบาหวาน 25.9 คน และโรคความดันโลหิตสูง 15.4 คน ตามลำดับ ข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีการบริโภคน้ำตาลทรายสูงถึง 1.7 ล้านตัน หรือประมาณ 18 ช้อนชาต่อวันซึ่งเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
“จากข้อมูลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคเกลือโซเดีมากถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโรคดังกล่าว ได้แก่ การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายการนอน ภาวะเครียด เป็นต้น” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้จัดการอาหารและวิถีชีวิต “โรงเรียนลด NCDs” เป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบโรงเรียนลด NCDs โดยจัดอบรมกลุ่มเป้าหมายให้มีความรู้และทักษะเป็นผู้จัดการอาหารและวิถีชีวิตรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2567 โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศในด้านอาหาร และโภชนาการ การออกกำลังกาย การนอน สุขภาพจิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเวชศาสตร์วิถีชีวิต ผู้เข้ารับอบรมเป็นพยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข หรือผู้ที่ปฏิบัติงานควบคุมป้องกันโรค NCDs ในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดละ 1 แห่ง แห่งละ 2 คน สำหรับกรุงเทพมหานครคัดเลือกจากศูนย์บริการสาธารณสุข 1 แห่ง จำนวน2 คน และจากศูนย์อนามัยทุกแห่ง สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองแห่งละ 1 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 167 คน
***
กรมอนามัย / 5 กันยายน 2567