อย. แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองในงานสัมมนา Joint Congress 2024 “Self-care in Healthcare: A Shared Vision of Asia Pacific”
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 105 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (2 กันยายน 2567) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และนายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เรื่อง การยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่เมืองสุขภาพดี ประจำปีงบประมาณ 2567 พร้อมด้วย ดร.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย รวมถึงผู้บริหารกรมอนามัย และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมงาน ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญของการเปลี่ยนรูปแบบการกระจายตัวของประชากรเชิงพื้นที่ไปยังเขตเมือง ทั้งสถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน ประกอบกับผลจากการประชุมส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 9 ที่ให้ความสำคัญกับประเด็น Healthy cities กรมอนามัยจึงได้เริ่มดำเนินงานโครงการเมืองสุขภาพดี ซึ่งประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ สถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ และประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี พร้อมทั้งขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่เมืองสุขภาพดีโดยบูรณาการการดำเนินงานเมืองสุขภาพดีเข้าไปในการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA) ด้วยการกำหนดเป็นตัวชี้วัดนำร่องในปีงบประมาณ 2567 เพื่อผลลัพธ์นำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ชุมชนสามารถจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม สถานประกอบกิจการได้มาตรฐาน ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และได้รับการส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มวัย รวมถึงเกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ โดยกำหนดเป้าหมายภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมี
เมืองสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า จากผลการขับเคลื่อนดำเนินงานในปี 2567 กรมอนามัยได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเมืองสุขภาพดีในระดับพื้นที่ในการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี จำนวนทั้งสิ้น 274 แห่ง โดยผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทอง จำนวน 67 แห่ง หรือ ร้อยละ 24.45 ผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับเงิน จำนวน 69 แห่ง หรือ ร้อยละ 25.19 และผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทองแดง จำนวน 138 แห่ง หรือ ร้อยละ 50.36 รวมทั้งได้ขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบเมืองที่อยู่อาศัย-เกษตรกรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ จังหวัดฉะเชิงเทรา
“การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินรับรองมาตรฐานเมืองสุขภาพดี และหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานดีเยี่ยมในการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดีรวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนดำเนินงานยกระดับองค์กปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี และเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการเมืองสุขภาพดีและขยายผลการดำเนินงานสู่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนรองรับการขยายตัวของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน โดยการประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานส่วนกลางกรมอนามัย ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานภาคีเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 550 คน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทาง วางระบบ และพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำกับ ดูแลและจัดบริการสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐานมีประสิทธิภาพ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ เนื่องจากมีความใกล้ชิดและเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างดี ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมมือกับกรมอนามัยในการสนับสนุนและพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มวัย ซึ่งนับว่าโครงการเมืองสุขภาพดีเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานบริหารจัดการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น รวมถึงการควบคุมกำกับสถานประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ในเขตเมืองให้ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน อันจะส่งผลให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสุขภาพอย่างเท่าเทียมตามหลักธรรมาภิบาล
***
กรมอนามัย / 2 กันยายน 2567