รมว.สธ.ห่วงใยพระภิกษุสงฆ์สามเณรกว่าพันรูปได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในจ.เชียงรายและใกล้เคียง สั่งการโรงพยาบาลสงฆ์กรมการแพทย์ประสานพื้นที่ดูแลช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์สามเณรใกล้ชิด
- กรมการแพทย์
- 0 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้ระมัดระวังภัยสุขภาพ ที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ สัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟฟ้าช็อต และการจมน้ำ พร้อมแนะวิธีป้องกันโดยเน้นสำรวจมุมอับบริเวณบ้านเป็นประจำ ป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปหลบซ่อน ไม่เดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้า และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (6 สิงหาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมสูง หรือน้ำท่วมฉับพลัน กรมควบคุมโรค
มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เป็นต้น สถานการณ์น้ำท่วมรายงานโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (24 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2567) พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 12 จังหวัด (ลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก เลย กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี) 44 อำเภอ บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 12,382 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้หญิง อายุ 11 ปี สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากจมน้ำ ส่วนข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงปี 2561-2564 (ข้อมูลทั้งปี) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เฉลี่ยถึงปีละ 74 ราย ในช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม (ช่วงฤดูฝน) เกิดเหตุมากที่สุด
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์น้ำท่วมขอให้ทุกคนมีสติ และปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1) การป้องกันการจมน้ำ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” โดย 4 ห้าม ได้แก่ ห้ามหาปลาในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังโดยเฉพาะในช่วงน้ำไหลหลาก ห้ามดื่มสุราแล้วลงไปในน้ำหรือเล่นน้ำ ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ สำหรับ 4 ให้ ได้แก่ ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วม ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2) การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง 3) การป้องกันไฟฟ้าช็อต ให้สับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟพร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยง การเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้าง ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร
ทั้งนี้ หากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้ปฏิบัติ ดังนี้ ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที
**********************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 6 สิงหาคม 2567