กระทรวงสาธารณสุข หารือสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขทั่วประเทศ ร่วมแบ่งเบาภาระการเงินของบุคลากรสาธารณสุข หลังสำรวจพบร้อยละ 12 มีภาระหนี้สิน โดยเป็นหนี้สหกรณ์มากสุด ร้อยละ 19 และมีมติเสนอให้สหกรณ์ฯ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือไม่เกิน ร้อยละ 4.75 ต่อปี พร้อมเตรียมจัดมหกรรมความสุขทางการเงิน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ

วันนี้ (31 กรกฎาคม 2567) นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงถึงกว่าร้อยละ 90 ถือเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะเศรษฐกิจไทย รัฐบาลจึงกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาหนี้สินของบุคลากรสาธารณสุขเช่นกัน โดยกำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร เป็นแรงสนับสนุนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างเต็มที่ และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรสาธารณสุข ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขทั่วประเทศ โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำกัด ดร. นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังและเสนอข้อคิดเห็น เพื่อหาแนวทางสร้างความสมดุลทางการเงินให้กับบุคลากรสาธารณสุขร่วมกัน

“ที่ประชุมมีมติเสนอให้สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขทั่วประเทศพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง เหลือไม่เกินร้อยละ 4.75 ต่อปี และกำหนดหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของสมาชิก โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 และมอบให้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรและปรับระบบให้เกิดความมั่นคงทางการเงินการคลังของกระทรวงสาธารณสุข” นายโฆษิตกล่าว

ดร.นพ.พงศธร กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 51,016 คน พบว่า มีหนี้สินร้อยละ 12 โดยเป็นหนี้สหกรณ์มากที่สุด ร้อยละ 19 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้วางแนวทางการขับเคลื่อนแผนความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน 6 แผนงาน ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้บุคลากรสร้างวินัยทางการเงิน 2) การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารออมสิน 3) การแก้ปัญหาหนี้เสียร่วมกับสถาบันการเงิน 4) การปรับโครงสร้างหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) 5) การจัดมหกรรมความสุขทางการเงิน (Happy Money Expo)ทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยนำร่องคิกออฟในส่วนกลาง เมื่อวันที่ 6 - 7 กรกฎาคม 2567 และจะขับเคลื่อนในอีก 12 เขตสุขภาพต่อไป และ 6) การปรับลดดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งจากข้อมูลกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่ามีสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุข 158 แห่ง มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดร้อยละ 4.5 และสูงสุดร้อยละ 7.5 อัตราเฉลี่ยร้อยละ 5.97 

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินเพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีความสุข มีแรงใจในการทำงาน เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของสหกรณ์ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินที่ชัดเจน สหกรณ์จึงได้สนองตอบนโยบายรัฐบาลและปฏิบัติตามแนวทางของกรมส่งเสริมสหกรณ์ อาทิ โครงการเงินกู้สามัญรวมหนี้ภายนอกเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ สป.สธ. จำกัด พ.ศ. 2567 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 โครงการเงินกู้สามัญรวมหนี้แก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อสร้างความมั่นคงแก่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ สป.สธ. จำกัด พ.ศ. 2567 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.25 และ โครงการเงินกู้สามัญปรับโครงสร้างหนี้ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 และ 6.25 ทั้งนี้ หากสหกรณ์ใดจะดำเนินการตามขอให้วิเคราะห์สภาพคล่องและฐานะการเงิน ภาระหนี้ผูกพัน การตอบแทนสมาชิก เนื่องจากแต่ละแห่งมีบริบทที่แตกต่างกัน และขอให้ยึดหลักการดำเนินงานตามระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ โดยใช้กลไกการการดำเนินงานของคณะกรรมการสหกรณ์ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้

*************************************** 31 กรกฎาคม 2567



   
   


View 0    31/07/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ