กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นภาวะฉุกเฉินทางระบบประสาท ที่มีอัตราการเสียชีวิต โดยอาการมักเกิดขึ้นฉับพลันทันใด ถ้ามีอาการไปถึงโรงพยาบาลไว โอกาสรอดตายสูง  

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะเลือดออกในสมอง สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาจมีสาเหตุแตกต่างกันไปตามช่วงวัย กล่าวคือ ผู้ป่วยอายุน้อย สาเหตุที่พบ มักเกิดจากสาเหตุของหลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดผิดปกติ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ  จนเมื่ิอเกิดปัญหาหลอดเลือดแตก จึงมีอาการทางระบบประสาท นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้เป็นระยะเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดเซาะ ฉีกขาด ทำให้หลอดเลือดสมองแตกในที่สุด ทำให้เกิดมีเลือดออกในสมอง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้

ผศ.น.พ. ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงทันทีทันใด แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ความรู้สึกตัวผิดปกติ พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง อาการทางระบบประสาทขึ้นกับตำแหน่งที่เลือดออก และหากมีเชือดออกที่สมองน้อย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเซ ทรงตัวลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งดูแล้วอาจจะคล้ายคนเมาได้ เนื่องจากสมองส่วนนี้ จะทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ราบรื่น เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร่งด่วน

             แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า แนวทางการวินิจฉัยและรักษานั้น แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งเอกซเรย์สมอง เพื่อยืนยันว่ามีเลือดออกในสมองและตำแหน่งของความผิดปกติ เพื่อวางแผนในการรักษา โดยที่อัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองค่อนข้างสูง จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดในสมองแตก ร้อยละ 21.13 และในปี 2567 ที่ยังเก็บข้อมูลไม่ครบทั้งปี ก็พบว่า ตัวเลขสูงถึง ร้อยละ 20.77 หากผู้ป่วยสามารถไปถึงโรงพยาบาลได้เร็ว ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว สามารถลดความพิการและการเสียชีวิตได้ การรักษาจะขึ้นกับตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออก หากมีเลือดออกปริมาณเล็กน้อย อาจจะให้การรักษาแบบประคับประคองและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ แต่หากเลือดออกในปริมาณสูง อาจจะมีความจำเป็นต้องผ่าตัดระบายเลือดออก และลดความดันในกะโหลกศีรษะ นอกจากนี้หากสาเหตุของเลือดออกเกิดจากหลอดเลือดผิดปกติ หรือหลอดเลือดโป่งพอง แพทย์ก็จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดเพื่อปิดทางเดินหลอดเลือดที่ผิดปกติ หรืออาจจะต้องรักษาด้วยหลากหลายวิธีร่วมกัน

 โดยสรุป การป้องกันภาวะหลอดเลือดออกในสมอง สำคัญที่สุด โดยผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ควรตรวจรักษาและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีตลอด เพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง และเมื่อมีอาการที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดลำบาก ปากตก แขนขาอ่อนแรง เดินเซที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ให้ไป ไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะ รู้อาการ ไปโรงพยาบาลเร็ว โอกาสรอดและปลอดอัมพาตก็จะสูงขึ้น

*************************************************

#กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #โรคหลอดเลือดสมอง #เส้นเลือดสมองแตก

                                                                             -ขอขอบคุณ-         22 กรกฎาคม 2567



   


View 0    22/07/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์