กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะพุทธศาสนิกชน ใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยดูแลสุขภาพพระสงฆ์ให้ห่างไกลโรคในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝน มีสภาพอากาศหนาวเย็นและชื้น    ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย พร้อมชู เมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสร้อน รวมถึง 7 ยาสมุนไพร ที่เหมาะจะถวายพระสงฆ์ เช่น ยาขิง ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาปราบชมพูทวีป ยาธาตุอบเชย ยาจันทลีลา ยาหอมนวโกฐ และ ครีมไพล/ยาหม่องไพล
            นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงระหว่างตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในช่วงเข้าพรรษานี้จะตรงกับช่วงฤดูฝน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เรียกว่า วสันตฤดู        สภาพอากาศจะมีความหนาวเย็นและชื้น หากกระทบร่างกายจะส่งผลให้ธาตุในร่างกายโดยเฉพาะธาตุลมเสียสมดุลเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น มีอาการหวัด คัดจมูก ไอ จาม ท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น 
            สำหรับ อาหารที่เหมาะแก่การถวายพระสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา แนะนำให้เป็นอาหารที่มีสมุนไพรรสร้อนเป็นส่วนประกอบ เช่น พริก พริกไทย หอมแดง กะเพรา ขมิ้นขาว ข่า ขิง ตะไคร้ กระชาย ช้าพลู  สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงป่า แกงส้ม ต้มยำ น้ำพริกคู่ผักเคียง ไก่ผัดขิง แกงเลียง เมี่ยงคำ ที่สำคัญควรเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด และอาหารที่ย่อยยาก เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ธาตุลมในร่างกายแปรปรวนและเสียสมดุลมากยิ่งขึ้น 
ในส่วน ยาสมุนไพร ที่เหมาะจะถวายพระสงฆ์เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย ที่มักพบได้บ่อย ในช่วงฤดูฝน ได้แก่ 1.ยาขิง ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด 2.ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ 3.ยาปราบชมพูทวีป บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการ      ที่เกิดจากการแพ้อากาศ 4.ยาธาตุอบเชย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม 5.ยาจันทลีลา บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู 6.ยาหอมนวโกฐ แก้วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และ 7.ครีมไพล/ยาหม่องไพล ใช้ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย 
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากการเสริมด้วยสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพพระสงฆ์แล้ว ควรลดการปรุงอาหารด้วยน้ำมันเปลี่ยนเป็นการนึ่ง ต้ม ตุ๋นแทน ลดการปรุงอาหารรสจัดลง ทั้งหวานจัด เค็มจัด เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ หากท่านมีข้อสงสัย สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์                      แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊กhttps://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line@DTAM

                                   .............................................19 กรกฎาคม 2567.................................................


 



   
   


View 0    19/07/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก