วันนี้ (17 กรกฎาคม 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “เข้าพรรษาสุขใจ สุขภาพไทยแข็งแรง” พร้อมแนะนำประชาชนสำหรับการรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงเข้าพรรษานี้

โควิด 19 แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง โดยสายพันธุ์ที่ระบาดมากคือสายพันธุ์ JN.1, KP.2 และ KP.3 ตามลำดับ โดยแพร่กระจายได้ง่าย แต่ไม่ได้รุนแรงขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 33,586 ราย ปอดอักเสบ 682 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 309 ราย และเสียชีวิต 188 ราย และในสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 67 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,004 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง จึงขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก ควรแยกตัวจากผู้อื่นและปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากไม่ดีขึ้นใน 1-2 วันให้รีบไปพบแพทย์

ไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ A (H1N1) สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยสะสม 217,806 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 18 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับการป้องกันโควิด 19 และเน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป/ หญิงตั้งครรภ์/ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี/ ผู้มีโรคเรื้อรัง/ โรคธาลัสซีเมีย (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) /โรคอ้วน/ ผู้พิการทางสมอง สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน การจัดกิจกรรมรวมตัวเป็นกลุ่มในระยะนี้ (เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร ฯลฯ) ควรมีการคัดกรองผู้มีอาการป่วยก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเข้มงวด หากพบให้งดเข้าร่วมกิจกรรมและรีบไปพบแพทย์

ไข้เลือดออก เริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน (โดยเฉพาะภาคเหนือ) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 กรกฎาคม 2567 พบผู้ป่วย 44,387 ราย มากสุดในวัยเรียน มีผู้เสียชีวิต 43 ราย มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว จึงขอเน้นย้ำมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” คือ 1) เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 2) เน้นการตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว 4) เน้นการสื่อสารงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตราย เลือดออกในทางเดินอาหารได้ และขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด รวมถึงผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน

เห็ดพิษ ช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝน ยังคงพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำทุกปีในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา ในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษแล้ว 19 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 79 ราย เสียชีวิต 8 ราย ขอเน้นย้ำประชาชนซื้อเห็ดมาปรุงประกอบอาหารจากฟาร์มเห็ด หรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ และไม่ควรเก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”

ไข้หูดับ เป็นโรคที่พบมากในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการรับประทานเนื้อหมูดิบ เครื่องในและเลือดดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยสถานการณ์ในปี 2567 พบผู้ป่วยแล้ว 549 ราย เสียชีวิต 38 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย จึงขอเน้นย้ำประชาชนไม่ควรรับประทานเนื้อหมูดิบ เครื่องในและเลือดดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ หลังสัมผัสเนื้อหมูให้ล้างมือให้สะอาด และที่สำคัญต้องไม่ใช้เขียง มีด ตะเกียบ กับเนื้อหมูดิบและสุกร่วมกัน ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน และรับประทานโดยปรุงสุก

พิษสุนัขบ้า สถานการณ์ในปี 2567 พบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย มีประวัติถูกสุนัขกัดมีเลือดออก เป็นสุนัขมีเจ้าของ 1 ราย และสุนัขจรจัด 1 ราย แล้วไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค และสัตว์ที่กัดเมื่อตายไม่ได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อการส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคในสัตว์พบว่า เริ่มมีการพบโรคพิษสุนัขบ้าในโค ดังนั้น ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยง การสัมผัสสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติวัคซีน รวมถึงหลีกเลี่ยงการชำแหละหรือรับประทานสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน เลีย น้ำลายหรือเลือดกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือผิวหนังที่มีบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ต้องล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องจนครบโดส สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ควรพาสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ตามที่สัตวแพทย์นัด

สำหรับสถานการณ์ต่างประเทศ ได้แก่ 1) สถานการณ์โรคแบคทีเรียกินเนื้อในญี่ปุ่น เป็นภาวะติดเชื้อที่รุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่ม A โดยพบว่าในปี 2567 ญี่ปุ่นพบผู้ป่วย 1,093 ราย และมีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูล 17-23 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยรายใหม่ถึง 33 ราย ในจำนวนนี้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 9 ราย สำหรับประเทศไทยมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A ที่ทำให้เกิดโรคไข้ดำแดงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่พบสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของภาวะติดเชื้อนี้ชนิดรุนแรง 2) สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากกิมจิปนเปื้อนโนโรไวรัสเกาหลีใต้ โนโรไวรัสเป็นเชื้อที่พบได้จากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน การสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อและนำเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน โดยมักพบการปนเปื้อนในน้ำดื่ม น้ำแข็ง และอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ผักผลไม้สด เป็นต้น กิมจิจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานอาหารเป็นพิษจากการรับประทานกิมจิ แนะนำประชาชนควรระมัดระวังการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน หากจะรับประทานกิมจิควรเลือกจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ และมีเครื่องหมาย อย.

ประเด็นอื่นๆ ขอย้ำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ อาหารเสริม ที่ปัจจุบันอวดอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เพิ่มภูมิคุ้มกันซีดี 4 ในผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสเข้าถึงยาต้านไวรัสหรือหยุดยาต้านไวรัส ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แนวทางการรักษาเอชไอวีที่ได้ผลที่สุด คือกินยาต้านไวรัส เริ่มรักษาเร็ว กินยาสม่ำเสมอจะยับยั้งจำนวนเอชไอวีจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรักษาวัณโรคได้ ซึ่งยังไม่พบสมุนไพรใดๆ ที่รักษาวัณโรคจนหายขาดได้ การรักษาวัณโรคต้องกินยารักษาวัณโรคตามแพทย์สั่งเท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ซึ่งกำหนดให้เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ โดยปี 2567 นี้ มีคำขวัญว่า “หยุดเหล้า หยุดอันตรายต่อผู้อื่น” (Stop alcohol Stop harm to other) ขอประชาชนช่วยกัน ลด ละ เลิกสุรา ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนนี้ โดยร่วมกันปฏิญาณตน ผ่าน https://noalcohol.ddc.moph.go.th/ ได้ตั้งแต่วันนี้ และอีกกิจกรรมคือ สัปดาห์วันป้องกันการจมน้ำโลก (22-26 กรกฎาคม 2567) โดยมติสมัชชาสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคม เป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day)” ปีนี้มีธีมรณรงค์ “จมน้ำเกิดง่ายกว่าที่คิด หนึ่งชีวิต ไม่ควรสูญเสีย” โดยขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงพลังคนไทย พร้อมใจใช้โทนสีฟ้า/น้ำเงิน และร่วมโพสต์รูป/วิดีโอกิจกรรม บอกเล่าเรื่องราวการป้องกันการจมน้ำ ติดแฮชแท็ก #WDPD2024 #DrowningPrevention ตลอดช่วงสัปดาห์ดังกล่าว

กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

*****************************

ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567

****************************



   
   


View 116    18/07/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ