ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดคงมาตรการ 2 ลด 3 เร่ง ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างเข้มข้น ในสัปดาห์หน้าจะประชุมผู้บริหารและมิสเตอร์ไข้หวัดนก ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางต้นบน เพื่อเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคในช่วงปลายฝนต้นหนาว นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า ขณะนี้ได้ให้ทุกจังหวัดคงมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ตามยุทธศาสตร์ 2 ลด 3 เร่ง อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันในภาควิชาการ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้ความรู้กับแพทย์พยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ จากการติดตามทางระบาดวิทยา พบว่าโรคยังมีการกระจายตัวทุกภาค ไม่มีการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อน โดยมี 7 จังหวัดที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่หนาแน่น ได้แก่ พะเยา แพร่ ร้อยเอ็ด ภูเก็ต สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และลพบุรี นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์หน้านี้ จะเรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มิสเตอร์ไข้หวัดนก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเคยพบผู้ป่วยไข้หวัดนก เพื่อเน้นย้ำมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ให้สอดคล้องกับกรมปศุสัตว์ และเฝ้าระวังไม่ให้เชื้อทั้ง 2 ชนิดผสมข้ามสายพันธุ์ ทางด้านนายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 14-16 ตุลาคม 2552 องค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ประมาณ 100 คน จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางคลินิก และการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยที่ประชุมยืนยันว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ส่วนใหญ่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน และหายจากอาการป่วยได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษา นายแพทย์ภาสกรกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ผู้เข้าประชุมได้แสดงความกังวลคือ เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง และมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีจำนวนไม่มาก โดยทั่วไปอาการจะเริ่มแย่ลง หลังจากเริ่มป่วย 3-5 วัน อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยหลายรายจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวภายใน 24 ชั่วโมง ต้องเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนัก และต้องให้เครื่องช่วยหายใจทันที อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองต่อเครื่องช่วยหายใจ ทำให้การรักษาทำได้ยาก โดยผู้ป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงนั้น พบเกิดจากเชื้อไวรัสได้บ่อยที่สุด และมักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งมีการนำเสนอในที่ประชุมว่า ลักษณะอาการของการเกิดโรคที่รุนแรง กับข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง ยืนยันว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบรุนแรงโดยตรง ส่วนการติดเชื้อแทรกซ้อนที่เกิดจากแบคทีเรีย ได้แก่ สเตร็ปโตคอคคัส นิวโมเนอี (Streptococcus pneumoniae) และ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 30ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาการช็อค ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชนที่ป่วย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือไอ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ต้องรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอหลักฐานทางวิชาการ เรื่องผลการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ หรือซานามิเวียร์อย่างทันท่วงที จะช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ซึ่งสนับสนุนคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ให้การรักษาในระยะต้นด้วยยาเหล่านี้ในผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ โดยไม่ต้องรอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า กลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้าย เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ป่วยที่มีโรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด ส่วนความผิดปกติทางระบบประสาท สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคในเด็กได้ นายแพทย์ภาสกรกล่าว สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11-17 ตุลาคม 2552 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตบางรายมีโรคประจำตัวและเข้ารับการรักษาหลังป่วยไปแล้ว 3 วัน ****************************** 21 ตุลาคม 2552


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ