สาธารณสุข พบประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี จากพยาธิใบไม้ตับ ที่อยู่ในปลาน้ำจืด สูงมากปีละ 28,000 คน เฉลี่ยวันละ 76 คน รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดย 9 ใน 10 จังหวัดทีมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดอยู่ในภาคอีสาน คนที่เคยเป็นและรักษาหายแล้วกลับมาเป็นโรคซ้ำถึงร้อยละ 12 สาเหตุเพราะยังกินปลาสุกๆดิบๆ และมีร้อยละ 38 ยังไปทุ่งแทนการใช้ส้วมเป็นบางครั้ง
วันนี้(14 กันยายน 2552) ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้นายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และศาสตราจารย์นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเวทีเสวนาโครงการแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดี ของประชาชน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในปี 2552 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ประสบการณ์ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารแผนงานระดับประเทศ ระดับเขต และจังหวัด ตลอดจนร่วมกันพิจารณาการจัดตั้งเครือข่ายสหวิทยาการ เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เกิดเป็นรูปธรรม สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างยั่งยืน และลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี
นายแพทย์สมชัย กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพ และเป็นปัญหาสาธารณสุขต่อเนื่องเป็นเวลา 94 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นชี้ชัดว่า การเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำดีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยมีการสร้างสารก่อมะเร็ง ทำลายสารพันธุกรรม กระตุ้นเซลล์ให้แบ่งตัวและเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นมะเร็งท่อน้ำดีและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้มีผลการศึกษาของนายแพทย์พินิจ ฟ้าอำนวยผลและคณะ ในปี 2551 พบประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีสูงมาก ปีละ 28,000 คน เฉลี่ยวันละ 76 คน ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่า 9 ใน 10 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุด อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร นครพนม อำนาจเจริญ อีก 1 จังหวัดภาคเหนือคือ แพร่
นายแพทย์สมชัย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจทางระบาดวิทยาของโรคหนอนพยาธิ ของประเทศไทย ในปี 2552 พบว่าคนไทยร้อยละ 18 เป็นโรคหนอนพยาธิ โดยพบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 26 ภาคเหนือพบร้อยละ 18 ในขณะเดียวกัน 2 ภาคนี้ก็พบอัตราติดโรคพยาธิใบไม้ตับสูงกว่าที่อื่นๆ เช่นกันคือร้อยละ 17 และร้อยละ 10 และที่ต้องให้ความสนใจเป็นกรณีพิเศษพบว่า ผู้ที่เคยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับและกินยารักษาพยาธิแล้ว กลับมาเป็นซ้ำอีกสูงถึงร้อยละ 12 ซึ่งจากการวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงต้นเหตุพบว่าประชาชนในพื้นที่ที่พบโรคพยาธิใบไม้ตับสูง ยังคงกินอาหารที่ทำจากเนื้อปลาน้ำจืดเกล็ดขาวดิบๆสุกๆเป็นประจำเหมือนเดิมร้อยละ 7 และกินเป็นครั้งคราวร้อยละ 84 และร้อยละ 38 ยังมีพฤติกรรมถ่ายอุจจาระนอกส้วม เช่น ในทุ่งนาเป็นบางครั้ง หากไม่ดำเนินการควบคุมโรคอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้สถานการณ์โรคพยาธิใบ้ไม้ตับของประเทศไทยกลับมาเป็นปัญหารุนแรงขึ้นได้อีก
2/นายแพทย์สมชัย........................................
-2-
นายแพทย์สมชัย กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในภาคอีสาน บางกลุ่มยังมีวิถีพฤติกรรมการบริโภคแบบเดิม ทำให้เกิดเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ เช่น การกินก้อยปลาดิบ ที่ทำจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาว ตระกูลปลาตะเพียน เช่น ปลาแม่สะแด้ง ปลาแก้มช้ำ ปลากระแหทอง ปลาสร้อยหางเหลือง ปลาขาวนาฯลฯ เมื่อเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับแม้เพียงครั้งเดียว ตัวพยาธิที่เข้าไปอยู่ในท่อน้ำดีก็สามารถทำให้เยื่อบุทางเดินท่อน้ำดีระคายเคือง และปล่อยสารทำลายเยื่อบุต่างๆ ทำลายสารพันธุกรรม ตัวพยาธิไปอุดตันท่อน้ำดี ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ขณะที่มีการอักเสบของท่อน้ำดีทุกครั้งจะมีการสร้างสารก่อมะเร็ง และทำให้เป็นมะเร็งได้ ดังนั้นเพื่อให้ปลอดจากการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี ประชาชนจะต้องงดบริโภคก้อยปลาดิบ ปลาส้ม ลาบปลาดิบ และปลาร้าดิบหรืออาหารที่ปรุงจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาวดิบทุกประเภทอย่างเด็ดขาด แต่ที่ผ่านมาสาเหตุที่ประชาชนเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมีความเชื่อว่ามียารักษาจึงไม่เลิกกินปลาดิบ โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและพยาธิปากขอในทุกพื้นที่ในประเทศไทยให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 ในปี 2559
ทางด้านศาสตราจารย์นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับยังไม่เป็นรูปธรรมเพียงพอ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เสนอแนวทางการสร้างต้นแบบควบคุมป้องกันพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการ ร่วมกับนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยพัฒนาเป็นภาคีเครือข่ายต้านพยาธิใบไม้ตับ ให้ชุมชน ภาครัฐ บ้านและโรงเรียน มีส่วนร่วม มีการผสมผสานการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชุมชนสัมพันธ์ และพฤติกรรมประชาชน โดยจะเน้นการพัฒนาทั้งในเด็กนักเรียนและผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดระบบควบคุมป้องกันการติดพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และนำไปสู่การขยายผลต่อพื้นที่เสี่ยงอื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป ขณะนี้ ได้พัฒนาชุมชนต้นแบบปลอดพยาธิใบไม้ตับที่รอบแก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น อยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาให้ชุมชนมีส่วนร่วม มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปีและจะพัฒนาขยายผลต่อไปทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
View 11
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ