รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูง เดินสายติดตามความพร้อมรับมืออุบัติเหตุปีใหม่ เผยอุบัติเหตุจราจรกว่าร้อยละ 75 เกิดในหมู่บ้าน เหตุจากเมาแล้วขับ วางมาตรการเข้มลดอุบัติเหตุ ให้หมออนามัยในพื้นที่ 20 จังหวัด เป็นแกนรณรงค์ลดอุบัติเหตุฉลองปีใหม่ “เมาไม่ขับ”ในหมู่บ้าน หวังลดเหยื่อเมาแล้วขับ ด้านโรงพยาบาลชลบุรีสำรองเตียงผู้ป่วย 300 เตียง เจ้าหน้าที่-เครื่องมือ-หมู่เลือดพิเศษเพียบ 24 ชั่วโมง วันนี้ (29 ธันวาคม 2549) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปติดตามการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุเทศกาลปีใหม่ 2550 เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจ ซึ่งหลายหน่วยงานช่วยดูแลแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทั้งถนนสายหลักและสายรองในหมู่บ้าน โดยตรวจเยี่ยมตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นถนนสายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ เนื่องจากเป็นเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุดแรกได้แก่ “ศูนย์พัฒนาคุณธรรม” อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ร่วมรณรงค์ในปั๊มน้ำมัน ปตท. กิโลเมตรที่ 56-57จุดที่ 2 เยี่ยม “จุดปฏิบัติการ อำเภอหนองแค” ในปั๊มน้ำมันบางจาก เลยหินกองปั๊มแรก กิโลเมตรที่ 97-98 สระบุรี และจุดสุดท้ายเยี่ยมโรงพยาบาลปากช่องนานา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมพร้อมกำลังทีมกู้ชีพนเรนทร รถพยาบาลฉุกเฉิน ที่จะออกไปช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บที่เกิดเหตุ สั่งการให้แพทย์เฉพาะทางอยู่ประจำห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และเตรียมกำลังแพทย์ พยาบาล บุคลากร เครื่องมือ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด คลังเลือด/เวชภัณฑ์ต่างๆ ในโรงพยาบาลเพื่อรับผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัว จากการตรวจเยี่ยมขณะนี้มีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงกว่าช่วงสงกรานต์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2543-2548 มีรายงานผู้บาดเจ็บที่ดื่มแอลกอฮอล์และเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 57-65 โดยร้อยละ 90 ของผู้บาดเจ็บคือคนในท้องถิ่นที่ออกจากบ้านไปธุระหรือไปเที่ยว ร้อยละ 75 ของอุบัติเหตุจราจรเกิดขึ้นที่ถนนสายเล็กๆ นอกเมือง มากกว่าทางหลวง นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ดีอุบัติเหตุจราจรเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เพราะสาเหตุที่เกิดกว่า ร้อยละ 80 เกิดจากพฤติกรรมคนขับ โดยเฉพาะความประมาทและดื่มสุราก่อนขับขี่ ดังนั้นมาตรการเสริมในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นที่การป้องกันด้วย โดยเฉพาะการป้องกันในระดับหมู่บ้าน เนื่องจากประชาชนมักจะเดินทางกลับมาภูมิลำเนาเพื่อร่วมฉลองที่บ้านในชนบท ในปีนี้สมาคมหมออนามัยได้จัดรณรงค์โครงการ “กลับถึงบ้านปลอดภัย หมออนามัยลดอุบัติเหตุ” เป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549–2 มกราคม 2550 นำร่อง 20 จังหวัดที่มีสถิติผู้เสียชีวิตสูงในรอบ 3 ปีรวม 455 ราย ได้แก่ นครราชสีมา เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย ระยอง สุรินทร์ นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ตาก ลพบุรี อุดรธานี หนองคาย นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม บุรีรัมย์ และประจวบคีรีขันธ์ การรณรงค์ดังกล่าว จะมีการจัดหน่วยบริการดูแลและเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ร่วมกับ อสม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครอื่นๆ เน้นหนักกลุ่มเยาวชน ผู้ใช้แรงงานและผู้ใช้รถจักรยานยนต์ แจกจ่ายคู่มือตั้งสติก่อนสตาร์ทและสติ๊กเกอร์ดื่มไม่ขับ และให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และส่งต่ออย่างปลอดภัย ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้านการรักษาพยาบาล ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งและสถานีอนามัย เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยตามหมู่บ้าน หรือในถนนสายรอง จะมีรถกู้ชีพฉุกเฉินที่เตรียมไว้ร่วมกับ อบต. นำตัวส่งรักษาในสถานีอนามัย หากอาการหนักจะส่งต่อที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ส่วนโรงพยาบาลใหญ่ ได้เตรียมพร้อมทั้งแพทย์ พยาบาล ประจำห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยหนัก คลังเลือดสำรอง โดยเพิ่มกำลังบุคลากรอยู่เวร 2 เท่าตัว ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549-3 มกราคม 2550 หากประชาชนพบเห็นอุบัติเหตุสามารถโทรแจ้งทางโทรศัพท์ 1669 จะส่งทีมกู้ชีพฉุกเฉินออกให้บริการถึงที่เกิดเหตุภายใน 10-15 นาที โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีทีมกู้ชีพทั้งหมด 3,947 ทีม บุคลากรทั้งหมดกว่า 30,000 คน ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชลบุรี เพื่อติดตามความพร้อมในการรับมือกับผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากเป็นเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล และชลบุรีติด 10 อันดับแรกที่มีผู้เสียชีวิตมากในเทศกาลปีใหม่ 2549 จำนวน 11 ราย โดยโรงพยาบาลได้สำรองเตียงรับผู้ป่วยเกือบ 300 เตียง เสริมอัตรากำลังแพทย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ พยาบาลที่ห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะช่วงกลางคืนอีก 2-3 เท่าตัว มีทีมกู้ชีพทั้งหมด 51 ทีม เจ้าหน้าที่เกือบ 2,000 คน และสำรองห้องผ่าตัดฉุกเฉินทุกประเภท 3 ห้อง มีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนคลังเลือดได้เตรียมไว้ทั้ง 4 หมู่อย่างเพียงพอ และยังเตรียมหมู่เลือดพิเศษไว้อีกจำนวนหนึ่ง โดยจากการวิเคราะห์สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตของโรงพยาบาลชลบุรี ในเทศกาลปีใหม่ 2549 รวม 7 วัน มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 428 ราย ในจำนวนนี้บาดเจ็บจากอุบัติจราจรเข้ารักษา 208 รายหรือร้อยละ 48 และมีผู้เสียชีวิต 10 ราย โดยร้อยละ 60 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ในวันนี้ โรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยจากอุบัติเหตุจราจรเข้ารักษาแล้ว 8 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 1 ราย โดยร้อยละ 85 เกิดจากรถจักรยานยนต์ ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1 ราย จากสาเหตุถูกรถชน สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรง ปอดรั่วทั้ง 2 ข้าง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และย้ายเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู ************************************ 29 ธันวาคม 2549


   
   


View 14    29/12/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ