คณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ในปี 2550 ให้เพิ่มภาษีเหล้าขาวและเบียร์ การไม่มีร้านขายเหล้าปลอดภาษี และแยกเหล้าออกจากสินค้าในข้อตกลงเขตการค้าเสรี ให้โรงพยาบาลทุกแห่งตั้งคลินิกเลิกเหล้า และตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องเหล้า 4 ภาค
เช้าวันนี้ (28 ธันวาคม 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติครั้งที่ 3 ประจำปี 2549 ในวันนี้ได้มีการรายงานความก้าวหน้า ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.....และความก้าวหน้าการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ได้ชะลอประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่บังคับใช้วันที่ 3 ธันวาคม 2549 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2549 รวมทั้งหารือแผนการดำเนินงานควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2550 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอมาตรการ 2 ระดับ คือระดับชาติและมาตรการภายในกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ... ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการประกาศห้ามโฆษณา กระทรวงสาธารณสุขได้ยื่นหนังสือยืนยันเจตนารมณ์ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนคำวินิจฉัยอีกครั้ง วัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพอย่างแท้จริง ไม่มีเจตนาข่มขู่เรียกผลประโยชน์ตอบแทน การควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายสุราที่เป็นทั้งสารก่อมะเร็งและสารเสพติด เป็นอบายมุข หรือทางแห่งความเสื่อม เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติ พร้อมทั้งยื่นหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะทราบคำวินิจฉัยในช่วงบ่ายวันนี้
สำหรับแผนการดำเนินงานควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2550 ได้เสนอมาตรการ 2 ระดับ คือมาตรการระดับชาติและมาตรการภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยมาตรการภายในจะมีการกำหนดให้สถานที่ราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด เป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและบังคับใช้กฎหมาย ร่วมกับฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือมินิเอฟบีไอ (mini FBI) ให้มีทุกภาค โดยภาคกลางที่ กทม. หรือที่ จ.ชลบุรี ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ หรือนครสวรรค์ ภาคอีสานที่ จ.นครราชสีมา หรืออุบลราชธานี ภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราช หรือ จ.สงขลา
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการระดับชาติ ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี 9 ประการได้แก่ 1.การผลักดันให้มีการเพิ่มภาษีเหล้าขาวและเบียร์ การไม่มีเขตปลอดภาษี หรือไม่มีการจำหน่ายเหล้าปลอดภาษี และการแยกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากสินค้าในข้อตกลงเขตการค้าเสรี 2.การลดการเข้าถึง โดยผลักดันให้มีการจำกัดการออกใบอนุญาตในการผลิตและจำหน่าย ให้มีฉลากคำเตือน (แบบภาพคำเตือน) 3.การควบคุมการโฆษณา มีเป้าหมายคือการห้ามการโฆษณาอย่างสิ้นเชิง 4.การพัฒนากฎหมายโดยผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5.การสนับสนุนให้มีคลินิกเลิกสุราในโรงพยาบาลระดับจังหวัดและอำเภอที่มีความพร้อม 6.การสนับสนุนการนำเงินจากภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาใช้ในการลดและป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น 7.การสนับสนุนและผลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญของจังหวัดและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8.การสนับสนุนการรณรงค์และสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และ 9.สนับสนุนการวิจัยและจัดการความรู้ เพื่อสนับสนุนมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาใหม่และประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา คาดว่าจะนำเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในกลุ่มประเทศแบบเดียวกับประเทศไทย แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพร้ายแรงเป็นอันดับ 1 ซึ่งพบผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 2.3 ล้านคนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละประมาณ 300 คน สำหรับข้อมูลของประเทศเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก ล่าสุดคือข้อมูลในปี 2542-2544 พบว่าภายในเวลาเพียง 2 ปี คนไทยมีอันดับการดื่มเบียร์ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 102 เป็นอันดับที่ 85 ของโลก คือเพิ่มนำหน้าขึ้นมาถึง 17 อันดับ ขณะที่อัตราการดื่มเหล้าเพิ่มมาเพียงอันดับเดียวคือจากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเมื่อดูอัตราการดื่มยังพบว่า การดื่มเหล้ามีอัตราการดื่มลดลง แต่อัตราการดื่มเบียร์มีการดื่มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่าการดื่มเหล้าเป็นสาเหตุการตายติดอันดับ 1 ใน 3 ของคนไทย ซึ่งมีผู้บริโภคเครื่องดื่มประเภทนี้เฉลี่ย 8.47 ลิตรต่อคน และมีรายงานจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ส่วนใหญ่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 62%
หากไม่มีการดำเนินการใดๆ อันดับของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยคงจะอยู่ในอันดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งย่อมหมายถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นเรื่อยๆของไทย
*************************************** 28 ธันวาคม 2549
View 9
28/12/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ