โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการวิจัยพฤติกรรมการกินผักผลไม้ของคนไทยล่าสุดอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงมาก ทั้งผู้ชายผู้หญิงมีคนกินผักผลไม้ได้ตามเกณฑ์คือวันละ 4 ขีด หรือ 5-6 ทัพพี เพียงร้อยละ 21 เท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักตัวคนไทยพุ่งกระฉูด พบในผู้หญิงร้อยละ 34 ส่วนผู้ชายร้อยละ 23 แนะสัญญานภัยอันตรายเบื้องต้นง่ายๆ ให้สังเกตจากกลิ่นอึ หากมีกลิ่นแรง ถ่ายยาก แสดงว่ากินผักผลไม้ยังไม่พอ เสี่ยงโรคอ้วน เบาหวานเยือน
นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทุกวันนี้คนไทยใช้ชีวิตน่าห่วงมาก โดยเฉพาะ 2 พฤติกรรมที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน ได้แก่ การกิน การออกกำลังกาย โรคภัยที่สะท้อนปัญหาชัดเจนคือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าโรคเรื้อรัง เพราะเมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หายขาด และสาเหตุชักจูงให้เกิดโรคเหล่านี้มาจากเรื่องการมีน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งจากการสำรวจสุขภาพคนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศในพ.ศ.2547 พบผู้ชายร้อยละ 23 และผู้หญิงร้อยละ 34 มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือที่ชาวบ้านเรียกว่ารูปร่างท้วม อาจพูดได้ว่าผู้ชายทุกๆ 4 คน และผู้หญิงทุกๆ 3 คน จะพบคนรูปร่างท้วมได้ 1 คน ส่วนคนในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวอายุ 15-29 ปี พบน้ำหนักเข้าข่ายท้วมร้อยละ 10 อ้วนร้อยละ 6 และผอมร้อยละ 17
ขณะเดียวกันผลการตรวจสุขภาพคนไทยในปีเดียวกัน พบคนไทยมีปัญหาความดันโลหิตสูงกว่า 10 ล้านคนหรือร้อยละ 22 เพิ่มขึ้นจากปี 2534 ถึง 4 เท่าตัว พบในผู้ชายร้อยละ 23 ผู้หญิงร้อยละ 21 ในจำนวนนี้กว่า 7 ล้านคนยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วย ส่วนในกลุ่มที่รู้ตัวว่าป่วยพบว่ารักษาได้ผลควบคุมระดับความดันได้ไม่ถึง 1 ล้านคน ส่วนโรคเบาหวานตรวจพบในผู้ชายร้อยละ 6 และผู้หญิงร้อยละ 7 รวมกว่า 3 ล้านคน พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 60-69 ปี และยังพบในกลุ่มวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวอายุ 15-29 ปีเกือบร้อยละ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือดตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก็คือไขมันคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด จากการตรวจสุขภาพพบสูงผิดปกติในผู้ชายร้อยละ 14 ส่วนผู้หญิงพบร้อยละ 17 เฉพาะในวัย 15-29 ปี มีไขมันตัวนี้ สูงเกินมาตรฐานร้อยละ 7 ผู้ที่มีไขมันสูงผิดปกตินี้ ร้อยละ 87 ยังไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ต้องเร่งแก้ไขปรับแก้พฤติกรรม ก่อนที่โรคจะกำเริบรุนแรงไปกว่านี้
นายสง่า กล่าวต่อไปว่า สำหรับในกลุ่มของผู้ป่วยจาก 3 โรคดังกล่าวจากการเฝ้าระวังผู้ป่วยใน 28 จังหวัด พบมีเข้ารักษาพยาบาลทั้งหมด 310,401 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเบาหวาน 207,964 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาแทรกซ้อน 64,545 ราย มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 378,254 ราย ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด 34,394 ราย ผู้ป่วยเหล่านี้รักษาไม่หายขาด จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์คือกินยาสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีผักผลไม้มากๆลดอาหารรสหวาน อาหารจำพวกแป้งให้น้อยลง จะสามารถคุมอาการให้เหมือนคนปกติได้
นายสง่า กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังดังกล่าว ประชาชนควรออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้งๆ 30 นาที รับประทานผักผลไม้มากๆ ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ หรือให้มากกว่าวันละ 4 ขีดหรือกว่าวันละ 5-6 ทัพพี ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากในผักและผลไม้ จะมีเส้นใยอาหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์มาก เพราะถ้ากินเส้นใยจากอาหารเป็นประจำ ช่วยให้การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น ส่งผลให้ร่างกายมีการขับถ่ายดีขึ้น จะช่วยให้ท้องไม่ผูก ลดไขมันในเส้นเลือด โดยใยของอาหารช่วยในการขับถ่ายนำไขมันคอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย ในทางตรงกันข้ามหากกินอาหารที่มีเส้นใยน้อย จะทำให้ร่างกายเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น ท้องผูก ริดสีดวงทวาร โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น การกินเส้นใยอาหาร ทำให้ถ่ายอุจจาระได้สะดวกทำให้ร่างกายไม่หมักหมม สิ่งบูดเน่าและสารพิษบางอย่างไว้ในร่างกายนานเกินควร จึงป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้ โดยคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยอาหารที่ป้องกันโรคดังกล่าวได้ นอกจากจะไม่ถูกย่อยด้วยน้ำย่อย แต่จะดูดน้ำทำให้อุจจาระนุ่ม มีน้ำหนักและถ่ายง่าย และร่างกายยังได้รับสารเบต้า-แคโรทีนและวิตามินซี จะช่วยป้องกันอนุมูลอิสระไม่ให้ทำลายเซลล์
นายสง่า กล่าวถึงวิธีการที่จะรู้ว่ากินผักผลไม้เพียงพอหรือไม่นั้น ให้สังเกตได้จากลักษณะอุจจาระ หากกินผักผลไม้พอท้องมักจะไม่ผูก อุจจาระจะร่วน มีกลิ่นแต่ไม่รุนแรง ตรงกันข้ามหากผู้ที่กินผักผลไม้น้อยหรือกินเนื้อสัตว์มาก อุจจาระมักจะแข็ง ถ่ายลำบาก เกิดการหมักหมมในลำไส้ใหญ่ กลิ่นมักจะเหม็น นอกจากนี้ผักผลไม้ยังช่วยบรรเทาอาการท้องผูก อีกทั้งยังช่วยลดการเก็บกักของเสียในร่างกาย ลดการหมักหมมของเสียในลำไส้ ลดโอกาสการดูดซับสารพิษจากของเสียเข้าสู่ร่างกาย และที่สำคัญมันช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้ เมื่อหันมารับประทานอาหารประเภทนี้มากขึ้น อาจจะเกิดปัญหาท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก ในระยะแรกๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาชั่วคราว เมื่อร่างกายปรับตัวได้ ปัญหานี้จะหมดไป โดย ค่อย ๆ เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ทีละน้อยและดื่มน้ำเพิ่มขึ้น โดยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้มีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงชนิดของอาหาร
ธันวาคม5/7-8 *********************************** 24 ธันวาคม 2549
View 17
24/12/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ