สาธารณสุข สั่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง เตรียมรับมืออุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ 7 วันอันตราย ให้จัดหมอมือ 1 ประจำห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด คลังเลือด และหน่วยกู้ชีพนเรนทร 1669 เกือบ4,000 ทีมพร้อมปฏิบัติการทันทีหลังรับแจ้งเหตุ อีกทั้งตั้งรถหวอในจุดอันตรายต่างๆ ฝากเตือนผู้ปกครองระวังลูกหลานเจ็บตัวจากรถจักรยานยนต์ เพราะปีใหม่ที่ผ่านมาพบเด็กวัยประถมทั้งดื่มทั้งซิ่งถึงขั้นเจ็บหนัก
วันนี้ (21 ธันวาคม 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว ความพร้อมรับเทศกาลปีใหม่ 2550 ของกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2550 ที่กำลังจะมาถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศเตรียมความพร้อมรองรับอย่างเต็มที่ โดยเริ่มตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2549-3 มกราคม 2550 รวม 7 วัน แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกันและควบคุม ให้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนฯ ในพื้นที่ ออกรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยและตั้งจุดตรวจร่วม ในจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ เช่น ทางโค้ง ทางแยก ให้จัดรถพยาบาลเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะให้เพิ่มความระมัดระวัง รวมทั้งให้พื้นที่ของหน่วยงานสาธารณสุขทุกแห่งเป็นเขตส่งเสริมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ส่วนด้านการรักษาพยาบาล ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมรองรับการเกิดอุบัติเหตุหมู่ ทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะด้านสมองและศัลยกรรมกระดูก พยาบาล วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องผู้ป่วยหนัก คลังเลือด เพิ่มจากช่วงปกติ 2 เท่าตัว เตรียมการประสานงานระบบส่งต่อผู้ป่วย ระบบสื่อสารแจ้งเหตุทาง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง และส่งทีมกู้ชีพฉุกเฉินออกให้บริการถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที
สำหรับด้านระบบข้อมูล จะเน้นการรายงานตามความเป็นจริง โรงพยาบาลทุกแห่งเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 28 ธันวาคม 2549 ถึง 24.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2550 ส่งข้อมูลให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับอำเภอและจังหวัด ตามแบบฟอร์มของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และให้ศูนย์นเรนทรวิเคราะห์สรุปข้อมูลการบาดเจ็บ การเสียชีวิต และการออกให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นรายวัน ส่งให้ศูนย์ปฏิบัติการส่วนกลาง ขณะเดียวกันให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 28 แห่งทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลการบาดเจ็บและการเสียชีวิต เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวิเคราะห์แก้ปัญหาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรให้ตรงจุด
นอกจากนี้ ได้ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคทั้ง 12 เขต จัดทีมออกสอบสวนกรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ และสุ่มสำรวจการขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย เนื่องจากสาเหตุของอุบัติเหตุช่วงเทศกาลกว่าร้อยละ 60 เกิดจากการดื่มสุราและส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จึงต้องเข้มงวดทั้งปั๊มน้ำมันและร้านค้าในหมู่บ้านด้วย
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2549 ที่ผ่านมานั้น จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรลดลงอย่างมาก จาก 8,547 รายในปี 2548 เหลือ 4,772 รายในปี 2549 หรือร้อยละ 44.2 ส่วนผู้เสียชีวิตลดลงจาก 469 ราย เหลือ 434 ราย หรือร้อยละ 7.5 แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบประเด็นที่ยังเป็นปัญหาสำคัญคือ รถจักรยานยนต์ เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดถึงร้อยละ 86.3 โดยผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการใช้รถจักรยานยนต์เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 61.6 หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2.5 คน สูงกว่าช่วงเวลาปกติเกือบ 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้พบเด็กเป็นผู้ขับขี่ถึงร้อยละ 28 ทั้งๆ ที่ไม่มีใบขับขี่ โดยเด็กที่ขี่รถมีอายุน้อยที่สุดเพียง 9 ขวบเท่านั้น ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรตระหนักและเข้มงวดเรื่องการใช้รถจักรยานยนต์ของเด็กให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลประชาชนจะมีการเดินทางและใช้รถใช้ถนนมากกว่าช่วงปกติ จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้นกว่าปกติประมาณ 2 เท่าตัว ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ ขอให้รีบแจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่หน่วยงานสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด จะส่งรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมทีมกู้ชีพออกไปให้บริการทันที ซึ่งขณะนี้เครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 มีครอบคลุมทั่วประเทศรวม 3,947 ทีม อยู่ในโรงพยาบาล 2,162 ทีม และอยู่ในชุมชนอีก 1,785 ทีม โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2549 ที่ผ่านมารวม 7 วัน ได้ออกให้บริการกู้ชีพ รวม 5,160 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 737 ครั้ง เป็นการกู้ชีพจากอุบัติเหตุจราจร 3,373 ครั้ง สูงกว่าช่วงปกติถึง 2 เท่าตัว และสูงกว่าช่วงปีใหม่ 2548 ถึงร้อยละ 40 นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่าช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 16.00-20.00 น. โดยถนนที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเป็นถนนสายรอง นอกเขตทางหลวง ถึงร้อยละ 63.7 จึงขอเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้เพิ่มความระมัดระวังในช่วงเวลาและบริเวณดังกล่าวให้มากขึ้นด้วย
สำหรับเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจราจร พบว่า ผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่พาหนะทุกประเภทถึงร้อยละ 47.9 ที่น่าตกใจคือ 1 ใน 5 ของเด็กที่บาดเจ็บจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ มีการดื่มสุราร่วมด้วย โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่ดื่มสุราคือ 11 ขวบเท่านั้น และจากการสุ่มสำรวจการขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย ในจังหวัดขนาดใหญ่ 12 แห่ง พบว่า มีการฝ่าฝืนกฎหมายจำหน่ายสุราในสถานที่ห้ามขาย ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน และสถานศึกษา ร้อยละ 27.9 โดยปั๊มน้ำมันเป็นที่ที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ร้อยละ 31.7 ส่วนการขายสุรานอกเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. พบมีการฝ่าฝืนถึงร้อยละ 26.3 ดังนั้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ กรมควบคุมโรคจะออกตรวจสอบให้มีการบังคับใช้กฎหมายสุราอย่างเข้มงวดด้วย
ธันวาคม4/6-7 *********************************** 21 ธันวาคม 2549
View 8
21/12/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ