สาธารณสุข ร่วมกับ สป.สช. และสภากาชาดไทย ทุ่มงบ 26 ล้านบาท จัดโครงการผ่าตัดเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯในปี 2550 ตั้งเป้าผ่าตัดหลังพบตั้งแต่แรกเกิด และฝึกพูด-จัดฟันดูแลจนถึงตอนโต 1,500 ราย ผลจากโครงการนี้จะทำให้อีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่มีระบบการดูแลเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ตั้งแต่แรกเกิด ไร้ความพิการใบหน้าเมื่อโตขึ้น เช้าวันนี้ (21 ธันวาคม 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” (Smart Smile & Speech Project) ใน พ.ศ. 2550 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในปี 2548 ระหว่างนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สงวน นิตยารัมพงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และพล.ท.นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้การดูแลแก้ไขความพิการของเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ตั้งแต่การทำศัลยกรรมตกแต่ง การฝึกพูด การจัดฟันให้สบกันปกติ ทำให้ลักษณะไม่แตกต่างจากเด็กทั่วๆ ไป และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” ในปี 2550 นี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ตุลาคม 2549 สิ้นสุดปลายเดือนตุลาคม 2550 ใช้งบประมาณ 26 ล้านบาท ตั้งเป้าผ่าตัด 1,500 ราย และดูแลฟื้นฟูด้านการฝึกพูด การเคี้ยว จากผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องจนใกล้เคียงปกติจำนวน 200 ราย ดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 41 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดศักราชของการประกันการดูแลฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่อย่างครบวงจร ตั้งแต่แรกเกิดอย่างถูกต้อง ทันเวลา คาดว่าอีก 5 ปีประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ทุกรายจะมีใบหน้าปกติ ฟันสวย พูดชัดเจน ไม่มีร่องรอยความพิการหลงเหลืออีกต่อไป ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ กล่าวว่า ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด พบได้ทุกปีปีละประมาณ 1,500-2,000 ราย ที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับการแก้ไขความพิการมักจะเป็นผู้มีฐานะดี เพราะต้องใช้ค่ารักษาไม่ต่ำกว่ารายละ 100,000 บาท ผู้ที่มีฐานะยากจนซึ่งมักอยู่ในชนบทจึงขาดโอกาส และใช้ชีวิตอยู่กับความพิการตามยถากรรม กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดรณรงค์ช่วยเหลือ แก้ไขฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ โดยจัดเป็นโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี 2548-2549 เน้นกลุ่มเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ซึ่งในเด็กปากแหว่งจะผ่าตัดในช่วงอายุ 3-6 เดือน หากมีเพดานโหว่จะผ่าตัดอายุ 9-18 เดือน หลังจากนั้นจะได้รับการดูแลด้านการฝึกพูด การจัดฟัน จนถึงขณะนี้มีเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 ลงทะเบียนในโครงการ 1,809 ราย ผ่าตัดแล้ว 1,128 ราย อยู่ระหว่างรอครบอายุที่จะผ่าตัดได้ 681 ราย ด้านนายแพทย์สงวน นิตยารัมพงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 26 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าผ่าตัด ค่าเพดานเทียม รายละ 6,500 บาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรในหน่วยบริการ ทีมสหวิชาชีพ เช่น นักฝึกการพูด ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม และการจัดการด้านต่างๆ พล.ท.นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ทรงเห็นว่าเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ เป็นเด็กที่มีปัญหาความผิดปกติทางโครงสร้างรูปลักษณ์ภายนอก แต่ความสามารถทางสติปัญญาเป็นปกติ สมควรที่จะได้รับการดูแลที่ครบสมบูรณ์ และเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าช่วยพัฒนาประเทศได้ ทั้งนี้ตามโครงการยิ้มสวยเสียงใส สภากาชาดไทย ซึ่งมีเหล่ากาชาดเป็นเครือข่ายทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นแกนหลักในการประสานงานสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ สนับสนุนค่าเดินทางสำหรับการฟื้นฟูดูแลต่อเนื่องทางด้านทันตกรรมจัดฟัน เพื่อแก้ปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ และการแก้ไขปัญหาทางภาษาและการพูด ครั้งละ 500 บาท สนับสนุนค่าเดินทางมาผ่าตัดครั้งละ 1,000 บาท นอกจากนี้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในส่วนภูมิภาคอย่างถาวร และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ในเขตจังหวัดที่มีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยหรืออยู่ห่างไกลปีละ 6 ครั้งด้วย ธันวาคม4/4-5 **************************** 21 ธันวาคม 2549


   
   


View 10    21/12/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ