กระทรวงสาธารณสุข เผยการฝังเข็มเป็นวิธีรักษาโรคที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เร่งควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของการฝังเข็ม โดยจัดอบรมหลักสูตรการฝังเข็มและกำหนดมาตรฐานสถานที่ให้บริการ โดยองค์การอนามัยโลกรับรองว่าสามารถใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้ 28 กลุ่มอาการ
วันนี้ (4 มิถุนายน 2552) ที่รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดอาคารแพทย์ทางเลือก/ฝังเข็ม ของรพ.พระนั่งเกล้า และเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยด้วยการแพทย์ทางเลือก ว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนที่เจ็บป่วย สามารถใช้บริการด้วยการแพทย์ทางเลือกได้ เช่น การแพทย์พื้นบ้าน และการบำบัดรักษารูปแบบต่างๆ โดยต้องผ่านการศึกษาวิจัยตรวจสอบว่ามีมาตรฐาน ปลอดภัยและได้ผลในการรักษา ผู้ที่ให้การรักษาจะต้องผ่านการอบรม และได้รับการฝึกฝนจนเป็นที่ชำนาญในแต่ละสาขา
นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับเวชกรรมฝังเข็ม เป็นศาสตร์การรักษาโรคที่มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 4,000 กว่าปี มีต้นกำเนิดมาจากการแพทย์แผนโบราณของจีน เป็นบริการสาธารณสุขที่กำลังได้รับความนิยมมาก โดยองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองศาสตร์สาขานี้ เมื่อ พ.ศ. 2543 ว่าสามารถใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้ 28 กลุ่มอาการ เช่น อาการปวดต่างๆ อัมพฤกษ์/อัมพาต โดยช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย รวมทั้งกลุ่มโรคภูมิแพ้และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ทั้งนี้ ผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์พบว่าการฝังเข็มทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟิน สามารถระงับอาการปวด และยังมีสารบางอย่างสามารถระงับอาการอักเสบ โดยจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดตามจุดที่มีการอักเสบ ทำให้หายเร็วขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้นำการฝังเข็มมาใช้บริการประชาชน ในสถานพยาบาลในสังกัด พบว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2548 มีผู้ป่วยใหม่เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40 ส่วนใหญ่เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต และยังพบว่ามีสถานพยาบาลกว่าร้อยละ 40 ต้องการเปิดให้บริการด้วยการแพทย์ทางเลือกด้วย
นายมานิต กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของการฝังเข็ม โดยจัดอบรมหลักสูตรการฝังเข็ม และกำหนดมาตรฐานโดยใช้พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ออกกฎกระทรวงว่าด้วยวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานยาบาล พ.ศ. 2545 กำหนดให้สถานพยาบาลที่มีการบริการฝังเข็ม ผู้ให้บริการจะต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งได้รับการอบรมวิชาการฝังเข็มจากสถาบันที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองเท่านั้น ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดทำมาตรฐานของสถานที่ให้บริการฝังเข็ม จะต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น
ด้านนายแพทย์โกสินทร์ ตรีรัตน์วีรพงษ์ หัวหน้าหน่วยฝังเข็ม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้เปิดให้บริการฝังเข็มตั้งแต่ปี 2541 มีผู้มารับบริการเฉลี่ย 80100 คน/วัน และในปี 2551 มีผู้มารับบริการจำนวน 10,633 คน จึงได้ปรับปรุงอาคารซักฟอกเดิมให้เป็นอาคารแพทย์ทางเลือก/ฝังเข็ม เพื่อรองรับการบริการผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 9 กันยายน 2551 สามารถรับผู้ป่วยได้ 22 เตียง มีแพทย์ให้บริการ 4 คน ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยมีบริการตรวจรักษา ฝังเข็ม การแมะ การครอบแก้วสุญญากาศ การรมยา การนวดทุยนาติดแม่เหล็ก สมุนไพรจีนประคบ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-5284567 ต่อ 5601 3
***************4 มิถุนายน 2552
View 9
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ