กระทรวงสาธารณสุข เผยโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขาดแพทย์ประจำการสูงถึงร้อยละ 42 ขณะนี้มีอยู่เพียง 290 คน ต้องการเพิ่มอีกกว่า 200 คน จับมือมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผลิตแพทย์เพิ่ม โดยรับนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้เข้าเรียนปีละ 48 คน เริ่มเดินเครื่องในปีการศึกษา 2550
เช้าวันนี้(19 ธันวาคม 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายจงรัก พลาศัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ลงนามความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นทีภาคใต้ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ณ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมีนายแพทย์ประจักษ์ เค้าสงวนศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา และนายแพทย์สมัย ชาววิจิตร รักษาการแทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสักขีพยาน ความร่วมมือดังกล่าวจะคัดเลือกนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ภาคทฤษฎีในชั้นปีที่ 1-3 ในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเรียนภาคคลินิก ฝึกภาคปฏิบัติในชั้นปีที่ 4-6 ที่โรงพยาบาลสงขลาและโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วจะกลับไปทำงานในท้องถิ่น
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ยังคงมีอยู่ทั่วประเทศ แต่กระทรวงสาธารณสุขมิได้นิ่งนอนใจ ยังคงเดินหน้าผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 2 ปี พบว่ามีความขาดแคลนแพทย์สูงถึงร้อยละ 42 และจากฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ล่าสุดในปี 2548 พบว่ามีความต้องการแพทย์ประมาณ 502 คน แต่มีแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลอยู่จริง 290 คน ยังขาดอีก 212 คน จังหวัดที่ขาดแพทย์สูงอันดับ 1 ได้แก่นราธิวาส มีความต้องการแพทย์ 201 คน แต่มีปฏิบัติงานอยู่จริง 90 คน ยังขาดอีก 111 คน รองลงมาได้แก่ ปัตตานีมีความต้องการแพทย์ 144 คน แต่มีแพทย์ปฏิบัติงานจริง 86 คน ยังขาดอีก 58 คน และยะลามีความต้องการแพทย์ 157 คน มีอยู่จริง 114 คน ยังขาดอีก 43 คน ทำให้แพทย์ที่มีอยู่ต้องรับภาระงานหนัก แต่แพทย์ทุกคนก็มุ่งมั่นทำงานด้วยความตั้งใจและเสียสละเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
ในการร่วมมือผลิตแพทย์ในครั้งนี้ จะดำเนินการภายใต้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านสาธารณสุข ตามแผนการพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ.2549-2552 มีการผลิตในคณะแพทยศาสตร์ที่มีอยู่ปัจจุบัน และในสถาบันผลิตแพทย์ที่จัดตั้งใหม่ 8 แห่ง ตั้งเป้าผลิต 2,798 คน ซึ่งแพทย์ที่ผลิตในโครงการนี้มีมาตรฐานเดียวกับแพทย์ในระบบปกติ
ทางด้านนายแพทย์สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์กำลังจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อส่งให้แพทยสภารับรอง และเมื่อผ่านการรับรองแล้วจะเริ่มรับนักศึกษาปีละไม่เกิน 48 คน โดยคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และโรงพยาบาลสงขลาจะร่วมกันพิจารณาคัดเลือกนักศึกษา เพื่อเข้าศึกษาภายใต้หลักสูตรที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์แพทยสภากำหนด โดยใช้งบการผลิตปีละ 300,000 บาทต่อคน
View 9
19/12/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ