กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการผ่าตัดฟรี ผู้ป่วยโรคตาต้อกระจก 80,000 คนทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา โดยระดมจักษุแพทย์ทั่วประเทศช่วยกันค้นหา และทำการผ่าตัดเปลี่ยนใส่เลนส์ตาเทียมในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านผู้ป่วยยิ่งขึ้น ร่นคิวรอผ่าตัดที่โรงพยาบาลใหญ่ เปิดขึ้นทะเบียนในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันนี้ถึงธันวาคม 2550
วันนี้ (1 ธันวาคม 2549) นายแพทย์ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโครงการดูแลรักษาผู้มีปัญหาด้านสายตาอันเนื่องมาจากเลนส์ตาเสื่อมจากโรคต้อกระจก ที่โรงพยาบาลครบุรี จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 101 คน และให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2550 นี้ เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 80,000 คนทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยให้บริการฟรี เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากโรคตาต้อกระจก ซึ่งร้อยละ 70 เป็นสาเหตุให้ตาบอดสนิทหากรักษาไม่ทันการ ใช้งบประมาณ 480 ล้านบาท
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า โรคตาต้อกระจกเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามวัย ทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว มองไม่เห็น หากไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาจะเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นตาบอด แต่ละปีมีผู้สูงอายุเป็นโรคตาต้อกระจกรายใหม่ 60,000 คน และจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนเลนส์ ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคตาต้อกระจก รอรับการผ่าตัดกว่า 100,000 คน คาดว่าภายใน 3 ปี ผู้ป่วยตาต้อกระจกที่รอผ่าตัดจะหมดไป
ทั้งนี้ ตามโครงการในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) มูลนิธิโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) และจักษุแพทย์ทั่วประเทศ โดยให้สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมค้นหาผู้ป่วย เพื่อผ่าตัดผู้ที่มีปัญหาตาขุ่นมัวจากต้อกระจกที่มีสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถติดต่อได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550
ทางด้านนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการสำรวจผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในจังหวัดนครราชสีมามีจำนวน 209,667 คน หรือประมาณร้อยละ 8 ของประชากรทั้งจังหวัด ได้ตั้งเป้าผ่าตัดตาต้อกระจก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2550 จำนวน 3,000 - 5,000 คน โดยผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และส่งทีมจักษุแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราช ไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการใกล้บ้านมากที่สุด และลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์
ขณะเดียวกัน จังหวัดนครราชสีมาได้ตั้งศูนย์ป้องกันตาบอดในเขตชนบทขึ้นที่โรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลครบุรี เสิงสาง โชคชัย และหนองบุญมาก โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขช่วยค้นหาผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาในหมู่บ้านต่างๆ ส่งให้ศูนย์สุขภาพชุมชนตรวจคัดกรองเบื้องต้น ส่งต่อให้โรงพยาบาลชุมชนตรวจ และลงทะเบียนนัดผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชน หลังผ่าตัดเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจะออกติดตามเยี่ยมบ้าน ดูแลหลังผ่าตัด เช็ดตา หยอดตา จนกระทั่งตามองเห็นเป็นปกติ
ขณะนี้ผ่าตัดไปแล้ว 260 คน หลังผ่าตัดไม่พบการติดเชื้อ ผู้ป่วยพอใจในความสะดวกรวดเร็วในการผ่าตัดร้อยละ 90 นอกจากนี้ ได้สำรวจด้านคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกทั้งก่อนและหลังผ่าตัด พบว่าก่อนผ่าตัดสามารถมองเห็น ช่วยเหลือตัวเองได้เพียงร้อยละ 2 เกือบทุกรายไม่มีความสุข แต่หลังผ่าตัดเห็นชัดขึ้นร้อยละ 83 ช่วยเหลือตัวเองได้ร้อยละ 80 และมีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 88 นายแพทย์สำเริงกล่าว
ธันวาคม /3-4****************************************** 1 ธันวาคม 2549
View 19
01/12/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ