"สมศักดิ์" เปิดตัวระบบส่งต่อออนไลน์ MOPH Refer เป็นของขวัญปีใหม่ ช่วยลดภาระและเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วย
- สำนักสารนิเทศ
- 466 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกย่องพยาบาลเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนระบบบริการที่มีคุณภาพ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพสู่ประชาชนตามเป้าหมายรัฐบาล แนะพัฒนาปรับตัวรับความท้าทายในระบบสุขภาพ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างประชากร ขณะที่กระทรวงพร้อมดูแลสร้างขวัญกำลังใจ
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2567) ที่ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 สภาการพยาบาล : บริการพยาบาลนิยามใหม่เพื่อคนไทยสุขภาพดี” และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พยาบาลไทย : กุญแจขับเคลื่อนความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ผู้บริหาร วิทยากร และผู้เข้าร่วมประชุม กว่า 1,200 คน ร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ตามที่ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และมาตรา 55 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง จึงได้ผลักดันนโยบาย “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม และได้รับความสะดวกมากขึ้น ด้วยการรับบริการพื้นฐานได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกที่ทั่วประเทศ
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพนั้น ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ถือเป็นความท้าทายในระบบสุขภาพที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก คือ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล การดูแลสุขภาพที่บ้าน การใช้แอปพลิเคชันหมอพร้อม เป็นต้น ความก้าวหน้าด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาพยาบาลที่แม่นยำ รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยลดเวลาและภาระงาน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้การทำงานของพยาบาลและบุคลากรการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ประการที่ 2 คือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยคาดการณ์ว่าในปี 2577 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 28% ของประชากร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ทั้งการเพิ่มขึ้นของโรคที่เกิดจากความเสื่อม ภาวะที่ต้องพึ่งพิง รวมถึงโรคเรื้อรังต่างๆ ส่งผลให้รัฐบาลต้องลงทุนในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยมีศักยภาพ สามารถเอาชนะความท้าทายของระบบสุขภาพ และสามารถขับเคลื่อนงานให้เกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพตามเป้าหมายของรัฐบาลได้
“ประเทศไทยมีพยาบาลกระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ กว่า 2 แสนคน ถือเป็นกำลังหลักของระบบบริการ และยังเป็นกุญแจที่จะสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพพยาบาล รวมถึงบุคลากรในระบบสาธารณสุขทุกวิชาชีพ จึงได้บรรจุประเด็น การดูแลสวัสดิภาพการทำงาน คุณภาพชีวิต และสร้างขวัญกำลังใจ เป็นหนึ่งในนโยบาย “5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ” ซึ่งสภาการพยาบาลในฐานะองค์กรวิชาชีพจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย”นายสมศักดิ์กล่าว
************************************** 29 พฤษภาคม 2567