รพ.เพชรบูรณ์ ตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ดูแลสุขภาพจากโรคเบาหวาน -ความดันโลหิตสูง ทุกมิติ
- สำนักสารนิเทศ
- 464 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของ จ.เพชรบุรีตามหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ของรัฐบาล เผย มีการบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมดำเนินงาน ช่วยคัดกรอง ส่งต่อฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างเป็นระบบตามแนวทาง Patient Journey และกลับคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัย
วันนี้ (13 พฤษภาคม 2567) ที่ จ.เพชรบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ติดตามการดำเนินงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยยาเสพติด ที่ศูนย์คัดกรองยาเสพติด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลธงชัย และโรงพยาบาลพระจอมเกล้า ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค.2567 และกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมร่วมกับทุกภาคส่วน ยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ไม่กลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดอีก
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดและมีผู้เสพยาเสพติดรายใหม่สูงที่สุด คือ อ.เมืองเพชรบุรี ยาเสพติดที่พบมากที่สุด คือ ยาบ้า โดยปี 2566 มีผู้ป่วยใช้สารเสพติด 392 ราย แบ่งเป็น กลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการทางจิตเวชร่วม 150 ราย สีเหลือง มีอาการทางจิตเวชร่วม แต่อยู่ในระยะอาการสงบ 150 ราย และสีแดง มีอาการทางจิตเวชร่วมและแสดงอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง 92 ราย พบว่ามีการดำเนินงานตามนโยบายการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดอย่างดี ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาและติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องถึง 68.75% ปัจจุบันมีศูนย์คัดกรองยาเสพติดครอบคลุมทุกตำบล รวม 117 แห่ง และศูนย์คัดกรองระดับโรงพยาบาล 8 แห่ง ซึ่งจากการเยี่ยมศูนย์คัดกรอง รพ.สต.ธงชัย พบว่ามีการดูแลช่วยเหลือและส่งต่อฟื้นฟูผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของอาการอย่างเป็นระบบ ตามแนวทาง Patient Journey โดยร่วมมือกับชุดปฏิบัติการตำบล ครอบครัวและชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีสถานพยาบาลยาเสพติดที่ได้รับมาตรฐาน HA ครบทุกแห่ง และมีมินิธัญญารักษ์ให้การบำบัดระยะเฉียบพลัน 8 แห่ง 21 เตียง ระยะกลาง 4 แห่ง 55 เตียง และระยะยาว 1 แห่ง 30 เตียง รวมทั้งได้พัฒนาระบบ Telemedicine ในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีสถานฟื้นฟูสมรรถภาพของรัฐ ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ขับเคลื่อนกระบวนการบำบัดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) ชุมชนล้อมรักษ์ ทำให้ผู้ป่วยคืนกลับสู่สังคมอย่างปลอดภัย
*****************************************13 พฤษภาคม 2567