อย. ชวนส่งความสุขเพื่อสุขภาพ ลดโรค NCDs เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเป็นของขวัญปีใหม่
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 28 View
- อ่านต่อ
สืบเนื่องจากการเผยแพร่ข้อความทางสื่อออนไลน์ เรื่อง ผลกระทบของวัคซีนโควิด 19 และมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนเกิดความสับสนและไม่มั่นใจต่อระบบการเฝ้าระวังฯ ของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ กรมควบคุมโรคตรวจสอบและหารือร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) เพื่อทบทวนข้อมูลวิชาการ ตลอดจนคำแนะนำล่าสุดขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า 13,000 ล้านโดส ข้อมูลวิชาการยืนยันว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ (1) โดยประเทศไทยเริ่มนำวัคซีนโควิด 19 มาฉีดให้กับประชาชน ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้คำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่ให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทยบนพื้นฐานข้อมูลการศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งวัคซีนโควิดทุกชนิดที่ใช้ในประเทศไทยจะต้องผ่านกระบวนการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากองค์การอนามัยโลก และจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตรวจรับรองรุ่นการผลิต (lot release) สำหรับวัคซีนทุกๆ ล็อตเพื่อควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และให้เกิดความมั่นใจด้านความปลอดภัยสูงสุดก่อนนำไปให้บริการประชาชน ตลอดจนมีระบบติดตามและระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนตามหลักมาตรฐานการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
ในประเทศไทย ระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนต่างๆ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2540 และกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายกรมควบคุมโรคเพิ่มระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2564 (โดยระบบจะรับรายงานทุกเหตุการณ์ทั้งที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างครบถ้วนมากที่สุด) ซึ่งระบบการเฝ้าระวังฯ ดำเนินการโดยคณะผู้เชี่ยวชาญระดับชาติจากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณารายงาน เพื่อให้ความเห็นว่าเกิดขึ้นจากวัคซีนหรือไม่ หรือมีปัจจัยอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้ข้อมูลรอบด้าน ตลอดจนผลตรวจด้านการแพทย์มาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อให้มีหลักฐานเพียงพอในการให้การวินิจฉัยได้แน่ชัดถึงสาเหตุทุกราย
เมื่อกองระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงหรือเสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการสอบสวนโรค และนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาสาเหตุและความเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีน โดยมีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) ซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ หลายสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น กุมารแพทย์ อายุรแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทและสมอง โลหิตวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา นิติเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน เป็นต้น ประชุมพิจารณาร่วมกัน โดยในช่วงการฉีดวัคซีนโควิดตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 147 ล้านโดสในประเทศไทย มีการศึกษาในประเทศไทยคาดประมาณว่าในช่วง 2 ปีแรกของสถานการณ์การระบาด วัคซีนสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิดได้หลายแสนรายซึ่งในภาพรวมเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดภายหลังได้รับวัคซีนโควิด มีอุบัติการณ์ต่ำเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ โดยในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 - 31 ธันวาคม 2566 มีรายงานอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์กรณีร้ายแรง 5.09 รายต่อแสนโดส และเมื่อพิจารณารายที่เสียชีวิต 1,797 ราย คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วพบว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด มีเพียง 5 ราย ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ได้แก่ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย อาการแพ้รุนแรง 2 ราย และ Stevens-Johnson Syndrome 1 ราย ซึ่งคิดเป็นอุบัติการณ์เสียชีวิตที่ต่ำกว่าหนึ่งในล้านโดส
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในระยะยาวคือการเฝ้าระวังอุบัติการณ์โรคหรือภาวะทางสุขภาพในประเด็นที่สำคัญตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาจำนวนมากในหลายประเทศที่ยืนยันว่า วัคซีนโควิดได้ปกป้องสุขภาพและชีวิตของผู้คนที่รับวัคซีนไว้เป็นจำนวนหลายล้านคน และการฉีดวัคซีนโควิดยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) ภายหลังจากการติดเชื้อ โดยการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ พบว่าวัคซีนโควิด 19 สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดลองโควิดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้ 40% - 80% เทียบกับการไม่ได้รับวัคซีน (2, 3)
กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนมั่นใจว่าประเทศไทยมีระบบการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิดที่ดำเนินการตามมาตรฐานสากลเพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนและกรมควบคุมโรคตระหนักถึงความสนใจหรือความกังวลของประชาชนในเรื่องข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนโควิดจึงขอให้ติดตามรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค
******อ้างอิง