ทีม SEhRT กรมอนามัย ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน จากเหตุไฟไหม้โรงงานกระดาษรีไซเคิล จังหวัดระยอง
- กรมอนามัย
- 6 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค จัดอบรมพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดเพื่อสนับสนุนการสร้างทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) 4 ภาค ทั่วประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม ถึง 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย ส่วนใหญ่เกิดเหตุในช่วงเดือนเมษายน โดยพบว่าเด็กจมน้ำส่วนใหญ่เกิดเหตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด
วันนี้ (17 มีนาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนและเป็นช่วงที่เด็กปิดเทอม เด็กๆ อาจชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพัง โดยข้อมูลพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2561 - 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม ถึง 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เดือนเมษายนจมน้ำมากที่สุด 65 ราย รองลงมาคือ เดือนมีนาคม 64 ราย และเดือนพฤษภาคม 63 ราย ส่วนใหญ่เกิดเหตุในช่วงเดือนเมษายน โดยพบว่าเด็กจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดเหตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด โดยขาดทักษะการเอาชีวิตรอด และการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ไม่ถูกต้อง กรมควบคุมโรค จึงได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และได้ร่วมกับสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดเพื่อสนับสนุนการสร้างทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) 4 ภาค ทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรนำไปใช้ขยายผลถ่ายทอดให้กับประชาชนและเด็กในพื้นที่ เพื่อป้องกันการจมน้ำ
นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรุ่นที่ 1 มอบหมายให้กองป้องกันการบาดเจ็บ ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม 2566 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับความอนุเคราะห์การใช้สระว่ายน้ำจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมอบรมฯ จำนวน 160 คน จาก 16 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้มอบหมายให้แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ เป็นผู้แทนในการมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมฯ สำหรับรุ่นที่ 2 กำหนดจัดขึ้น ณ จังหวัดสมุทรสงคราม รุ่นที่ 3 จัดขึ้น ณ จังหวัดพิษณุโลก และรุ่นที่ 4 จัดขึ้นณ จังหวัดสงขลา ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ประกอบไปด้วย ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ ด้วยการลอยตัวเปล่าเหมือนแม่ชีลอยน้ำ และการลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วยลอยน้ำ เช่น ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า เป็นต้น และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ถูกต้อง โดยไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ให้ใช้วิธีการ “ตะโกน โยน ยื่น” และเมื่อช่วยคนจมน้ำขึ้นมาแล้วห้ามจับอุ้มพาดบ่าแต่ให้ช่วยด้วยการเป่าปากและนวดหัวใจ (CPR) แล้วนำส่งโรงพยาบาลทุกราย
********************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 17 มีนาคม 2566