รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งผู้ตรวจราชการสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ป่วยเสียชีวิตหลังผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบที่โรงพยาบาลพัทลุง ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเต็มที่ และกำชับโรงพยาบาลทั่วประเทศเพิ่มการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจมาตรการและผลการรักษา ด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาลพัทลุงแจงเหตุเสียชีวิตไม่ได้มาจากการผ่าตัดไส้ติ่งหรือการดมยาสลบ แต่เกิดจากติดเชื้อในช่องท้องอย่างรุนแรงและติดเชื้อในกระแสเลือด
จากกรณีที่นางนวลพรรณ สุทธิสินทอง อยู่บ้านเลขที่ 510 หมู่ 1 ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ว่า นางหนูเศียร พร้อมมูล อายุ 53 ปี ซึ่งเป็นพี่สาวได้เสียชีวิตหลังผ่าตัดไส้ติ่ง ที่โรงพยาบาลพัทลุง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551 ซึ่งหลังผ่าตัดนางหนูเศียรไม่ฟื้น กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ต้องนอนในห้องไอซียู และเสียชีวิตในวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ซึ่งญาติเข้าใจว่าเกิดจากการวินิจฉัยโรคผิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ทำให้ต้องรับการผ่าตัด ดมยาสลบจนไม่ฟื้น และเป็นรายที่ 2 ที่เสียชีวิตจากการดมยาสลบในรอบ 6 เดือนของโรงพยาบาลพัทลุงนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ (9 กรกฎาคม 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้โรงพยาบาลพัทลุงตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสาเหตุการเสียชีวิตของนางหนูเศียร พร้อมมูล เป็นการด่วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย และให้นายแพทย์ธงชัย เติมประสิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามมาตรการแก้ไขอย่างใกล้ชิด และรายงานผลภายในวันศุกร์นี้ ขณะเดียวกันได้กำชับให้แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับการพูดคุย ชี้แจงแนวทางการรักษา และผลการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจทุกครั้ง เนื่องจากขณะนี้ประชาชนมีความคาดหวังต่อบริการการแพทย์และสาธารณสุขสูง หากทุกฝ่ายสื่อสารกันด้วยเหตุผลอย่างดี มีความเข้าใจตรงกัน ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะแพทย์มีความตั้งใจที่จะให้การรักษาผู้ป่วยทุกรายให้หายเร็วที่สุด
ทางด้านนายแพทย์ชัยศิลป์ ดำด้วง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพัทลุง กล่าวว่า โรงพยาบาลพัทลุงได้รับผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาลปากพะยูน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2551 ด้วยอาการไข้ ปวดท้องมาหลายวัน แพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ แต่มีโอกาสเป็นโรคอื่นได้ และได้แจ้งสามีผู้เสียชีวิตว่า ต้องผ่าตัดเปิดช่องท้อง หาความผิดปกติของอวัยวะภายในเพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งสามียอมรับและยินยอมให้ผ่าตัด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551 เวลา 01.30 น.
ผลการผ่าตัดพบว่า ไส้ติ่งมีลักษณะปกติ แต่มีการอักเสบทั่วไปของลำไส้เล็ก และได้ตัดไส้ติ่งออก หลังผ่าตัดผู้ป่วยรู้สึกตัวดี จากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีอาการหายใจเหนื่อย หอบมากขึ้น แพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ และย้ายเข้าห้องไอซียูเพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และได้ปรึกษาอายุรแพทย์ร่วมวางแผนการรักษา จากการตรวจเลือด เอกซเรย์ และอัลตราซาวด์ เพิ่มเติม พบเป็นเบาหวาน โดยไม่มีประวัติมาก่อน มีปอดอักเสบ เป็นโรคตับแข็ง แพทย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิดโดยตลอด และอธิบายสามีและญาติทราบทุกระยะ ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 อาการทรุดหนัก ญาติได้ขอส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ทีมแพทย์โรงพยาบาลพัทลุงเห็นว่า ผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต อาจไม่ปลอดภัยในขณะเคลื่อนย้าย ได้แจ้งให้สามีผู้เสียชีวิตรับทราบ โดยได้เสียชีวิตลงในเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน
นายแพทย์ชัยศิลป์ กล่าวต่อว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อในช่องท้องอย่างรุนแรง ปอดอักเสบ และมีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต โดยมีโรคพื้นฐานที่เป็นอยู่ก่อน ซึ่งผู้ป่วยและญาติไม่ทราบคือ เบาหวาน ตับแข็ง และมีภาวะแทรกซ้อนทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว ไม่ได้เกิดจากการผ่าตัดไส้ติ่งหรือการดมยาสลบ แพทย์ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ทางโรงพยาบาลได้ส่งนายแพทย์ชัยยุทธ ศักดิ์ศรชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ นำทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ย พูดคุยทำความเข้าใจกับญาติผู้เสียชีวิต และประสานงานเรื่องการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนชดเชยผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็ว
ส่วนกรณีที่สื่อเสนอข่าวว่าผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นรายที่ 2 ที่เสียชีวิตจากการดมยาสลบของโรงพยาบาลพัทลุงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นความจริง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2550 เป็นผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ แต่รายนี้เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่จากความผิดพลาดของแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยเป็นโรคที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อลาย ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาการจะแสดงเมื่อได้รับการผ่าตัดและดมยาสลบ ซึ่งต้องได้รับยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมด้วย ผลของยานี้จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลายเผาผลาญพลังงานอย่างมาก ทำให้มีไข้สูง กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
****************************** 9 กรกฎาคม 2551
View 11
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ