สธ. เปิดสาย 1669 เรียกหมอ 24 ชั่วโมง ส่งเรือรับถึงที่ ชี้ยอดผู้ป่วยน้ำท่วมพุ่งใกล้ครึ่งล้านราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำให้โรงพยาบาลทุกแห่งตั้งหน่วยรับปรึกษาการเจ็บป่วยทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 ฟรี เป็นที่พึ่งประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมส่งเรือ-รถไปรับถึงที่หากมีอาการหนัก ด้านปลัดสธ.เผยตัวเลขผู้ป่วยจากน้ำท่วมเพิ่มใกล้ครึ่งล้านราย การส่งคนไข้ที่อ่างทองลำบาก กินเวลา 4 ชั่วโมง วันนี้ (23 ตุลาคม 2549) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เดินทางตรวจเยี่ยมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ซึ่งรับภาระหนักอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และร่วมวางแผนแก้ปัญหา จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการจัดการปัญหาน้ำท่วมบ่อขยะในจังหวัดสิงห์บุรี และในช่วงบ่ายได้เดินทางเยี่ยมการปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วมที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม คาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงและขยายพื้นที่ไปทั่วทุกภาค ทำให้ประชาชนเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย และบางส่วนอาจเดินทางไปตรวจรักษาที่สถานบริการไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกจังหวัด ตั้งหน่วยรับแจ้งและให้คำปรึกษาปัญหาการเจ็บป่วย ทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 ฟรี ซึ่งทุกจังหวัดใช้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง หากรายใดป่วยหนัก โรงพยาบาลที่ได้รับแจ้งจะส่งเรือหรือรถบรรทุกสูงๆที่ฝ่าน้ำได้ ไปรับตัวมารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด นอกจากนี้ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคที่มักเกิดในช่วงน้ำท่วม เช่น อหิวาตกโรค อุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ บิด ไข้ไทฟอยด์ ตับอักเสบ ตาแดง หัด โรคฉี่หนู ขณะนี้มีรายงานประปราย เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้ทั้งหมด และให้เข้มงวดเรื่องน้ำดื่มสะอาด การขับถ่ายลงส้วมหรือใส่ถุงดำ เพื่อลดความสกปรกของน้ำ และให้จังหวัดเผยแพร่ความรู้คำแนะการป้องกันโรคให้ประชาชนในระหว่างน้ำท่วม ผ่านทางวิทยุท้องถิ่นหรือผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะคนจะฟังวิทยุกันมาก ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สรุปยอดผู้ป่วยจากน้ำท่วมสะสมจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ 27 สิงหาคม 2549 จนถึง 21 ตุลาคม 2549 มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 484,634 ราย โรคที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำกัดเท้าและผื่นคัน 285,070 ราย หรือพบได้ 2 ใน 3 ของผู้รับบริการ ไข้หวัด 56,416 ราย มีปัญหาเครียด 32,234 ราย ตาแดง 17,554 รายหรือร้อยละ 4 และถูกสัตว์มีพิษกัด 11,727 ราย สำหรับที่จังหวัดอ่างทอง ขณะนี้น้ำท่วมทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกว่าครึ่งบ้านถูกน้ำท่วมด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอ่างทองร้อยละ 80 อยู่ที่โรงพยาบาลมากกว่าที่บ้าน เพราะหลังทำงานแล้วกลับเข้าบ้านไม่ได้ ส่วนการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลชุมชนไปรักษาที่โรงพยาบาลอ่างทองเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานานขึ้น เช่นจากโรงพยาบาลทองเคยใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่ขณะนี้ต้องใช้เวลานานถึงเกือบ 4 ชั่วโมงเพราะต้องวิ่งอ้อม มีผู้ป่วยส่งต่อเฉลี่ยวันละ 12 ราย ในช่วงน้ำท่วมนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว 70 ราย โดยขณะนี้ได้ให้โรงพยาบาลอ่างทองสำรองเตียงรับผู้ป่วยได้ไม่อั้น ******************************** 23 ตุลาคม 2549


   
   


View 19    23/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ