รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุในรอบ 4 ปีมานี้ พบผู้สูงอายุทั้งชายหญิงที่สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว เพียง 900,000 กว่าคนเท่านั้น โดยร้อยละ 87 มีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค ที่พบมากคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เร่งป้องกันโดยส่งเสริมให้ตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้าน จัดกิจกรรมพัฒนาสุขภาพทั้งกายและใจต่อเนื่อง และหารูปแบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ปีนี้นำร่อง 12 จังหวัด
เช้าวันนี้ (19 มิถุนายน 2551) ที่โรงยิมเนเซียม อ.เมือง จังหวัดราชบุรี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เปิดมหกรรมรวมพลังผู้สูงอายุจำนวน 3,000 คน เพื่อสืบสานภูมิปัญญาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และสมัชชาสุขภาพผู้สูงอายุจังหวัดราชบุรี พ.ศ. 2551 จัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี สมาคมผู้สูงอายุและคลังปัญญาจังหวัดราชบุรี ประชาคมราชบุรี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานพัฒนาสังคมหน่วยที่ 49 อบจ.ราชบุรี มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาวิทยุชุมชนไทยและท้องถิ่นจ.ราชบุรี
นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้นและความสำเร็จของการนโยบายการวางแผนครอบครัว จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2550 พบว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 7 ล้านคน หรือร้อยละ 10 ของประชากรประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในอีก 18 ปีข้างหน้า ปัญหาสุขภาพสำคัญที่ตามมากับผู้สูงอายุก็คือ การเจ็บป่วยจากความเสื่อมของร่างกายและโรคเรื้อรัง ที่เป็นผลมาจากการใช้ชีวิตในวัยหนุ่มสาว ผลการสำรวจสุขภาพในรอบ 4 ปีมานี้ พบผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 13 หรือประมาณ 910,000 คนที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 87 มีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค ในขณะที่ผลสำรวจในรอบ 12 ปีก่อนนี้ ไทยมีผู้สูงอายุสุขภาพดีมากถึงร้อยละ 28 โดยโรคเรื้อรังที่พบมากในผู้สูงอายุ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ข้อเสื่อม ปวดข้อ ปวดหลัง ปัญหาทั้งหมดนี้มักเกิดมาสะสมตั้งแต่อายุ 45 ปี
นายไชยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ไม่ต้องเสียเวลารอนาน ขณะเดียวกันยังมีนโยบายส่งเสริมให้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุให้ครบทุกตำบล เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมสุขภาพร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการต่างๆ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ขณะนี้ดำเนินการครอบคลุมแล้วร้อยละ 93 มีชมรมผู้สูงอายุเกือบ 10,000 ชมรม สมาชิกกว่า 2 ล้านคน คาดว่าจะครบทุกตำบลในปีหน้า จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน การมีชมรมผู้สูงอายุจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล ส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ รวมทั้งเป็นคลังสมองช่วยถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านต่างๆ ไปสู่คนรุ่นใหม่ต่อไปด้วย
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนารูปแบบการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุ โดยให้กรมอนามัยจัดโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนทั้งที่ป่วยแล้วและยังไม่ป่วย นำร่องใน 12 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ตราด สระบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ นครสวรรค์ สุโขทัย เชียงราย สุราษฎร์ธานีและสตูล ผู้สูงอายุจะได้รับการตรวจหาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ประเมินภาวะอ้วน ตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่พบมาก เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล สถานีอนามัย และอสม. จะประเมินผลปลายปีนี้ หากได้ผลดีจะขยายผลทั่วประเทศต่อไป
นายแพทย์บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีมีผู้สูงอายุทั้งหมด 108,141 คน จากการสำรวจสุขภาพจำนวน 26,702 คน ในปี 2550 พบปัญหาเรื่องปวดหลัง/ปวดข้อ มากที่สุด ร้อยละ 44 รองลงมาคือ นอนไม่หลับ ร้อยละ 31 สายตาฝ้าฟาง ร้อยละ 30 ฟันผุและแผลในช่องปาก ร้อยละ 25 โดยมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ร้อยละ 4-6 ซึ่งการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนี้ ได้มีแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและประชาคม มีสภาผู้สูงอายุและคลังปัญญาจังหวัดราชบุรี ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนเป็นสมาคมผู้สูงอายุและคลังปัญญาจังหวัดราชบุรี มีชมรมผู้สูงอายุทั้งหมด 180 ชมรม สมาชิก 62,000 คน เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน
โดยในวันนี้ จังหวัดราชบุรีได้เปิดเวทีสมัชชาสุขภาพผู้สูงอายุ ระดมความคิดจัดทำแผนแม่บทพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2551-2555 และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ระดับ ได้แก่ ระดับท้องถิ่น เสนอให้ตั้งศูนย์บริการอเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ และออกเทศบัญญัติหรือข้อกำหนดท้องถิ่น ส่งเสริมและคุ้มครองสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ระดับจังหวัด เสนอให้มีการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุให้มีคุณภาพ จัดระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงการดูแลจากบ้านถึงโรงพยาบาล มีศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น ผลักดันกองทุนสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุในจังหวัด ส่วนระดับชาติ เสนอให้มีวาระแห่งชาติว่าด้วยผู้สูงอายุ ที่มีเป้าหมายส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการ ผลักดันให้มีสภาหรือสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ มีกองทุนสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุในระดับชาติ เป็นต้น
************************************** 19 มิถุนายน 2551
View 16
19/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ