โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 1 เดือน มีผู้เจ็บป่วยแล้วกว่า 65,000 ราย พบโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีโรคระบาด โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งสำรองยาเพิ่มอีก 1 แสน 5 หมื่นชุดและสำรองยารักษาน้ำกัดเท้าอีก 1 แสนตลับ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆในจังหวัดที่ประสบภัย ได้จัดหน่วยแพทย์ให้การดูแลสุขภาพประชาชนฟรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยรักษาพยาบาล ตระเวนไปยังจุดที่มีน้ำท่วมทั้งทางรถยนต์และทางเรือ ผลสรุปในรอบกว่า 1 เดือนหลังจากที่มีน้ำท่วมขังตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2550 จนถึงวันนี้ สรุปมีทั้งหมด 65,000 กว่าราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ น้ำกัดเท้า และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประชาชนต้องเดินลุยน้ำทุกวัน รองลงมาได้แก่ ผิวหนังผื่นคันผิวหนัง ไข้หวัด โดยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าสำรองไว้ 100,000 ตลับ และสั่งการให้องค์การเภสัชกรรม สำรองยาสามัญประจำบ้าน ยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 150,000 ชุด พร้อมจัดส่งให้จังหวัดต่างๆทันที ส่วนโรคระบาดอื่นที่อาจมากับน้ำท่วมเจ้าหน้าที่ได้วางแผนป้องกันอย่างเต็มที่ เช่น โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ ขณะนี้ยังไม่พบ นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคน้ำกัดเท้า ประชาชนไม่ควรใส่รองเท้าที่เปียกชื้นตลอดเวลา โดยหลังจากเดินย่ำน้ำ ขอให้รีบล้างทำความสะอาดเท้าทันทีและฟอกสบู่ให้ทั่ว จากนั้นให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หรือในการเดินย่ำน้ำขังที่ระดับน้ำไม่สูง สามารถใส่รองบู๊ทกันน้ำไม่ให้เปียกเท้าได้ แต่หากน้ำล้นเข้าไปในรองเท้าบู๊ท ขอให้ถอดแล้วเทน้ำในรองเท้าออกเป็นคราวๆ เพื่อไม่ให้เท้าควรแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เท้าเปื่อยได้เช่นกัน และหากมีบาดแผลให้ใช้แอลกอฮอล์ที่ใช้ทำแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อหรือทิงเจอร์เบตาดีน


   
   


View 13    28/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ