ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รุดเยี่ยมโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร ให้กำลังใจแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ หลังถูกน้ำท่วมสูงเกือบครึ่งเมตร วันนี้สถานการณ์ดีขึ้น ความเสียหายประมาณ 50,000บาท และย้ำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เฝ้าระวังประชาชนที่มีโรคประจำตัวและอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาจโรคกำเริบง่าย ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคลมชัก โรคจิตเภท ซึมเศร้า รวมทั้งผู้พิการในหมู่บ้าน ให้นำไปฝากนอนที่โรงพยาบาลได้ สั่งสำรองยาเพิ่มอีก 1 แสน 5 หมื่นชุดและสำรองยารักษาน้ำกัดเท้า 1 แสนตลับ ในวันนี้ส่งยาให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี 10,000 ชุด
เที่ยงวันนี้ (26 ตุลาคม 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร หลังที่โรงพยาบาลดังกล่าวประสบภัยน้ำท่วม ระดับสูงครึ่งเมตร โดยท่วมที่บริเวณโรงซักฟอกเสื้อผ้า เครื่องมือแพทย์ และโรงครัวประกอบอาหารผู้ป่วย เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำที่จังหวัดชุมพรขณะนี้ท่วมทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการต่อเนื่อง จัดตั้งคลังยา เวชภัณฑ์ 3 แห่งที่อ.ท่าแซะ อ.เมือง อ.หลังสวน โดยที่โรงพยาบาลหลังสวนในวันนี้เกือบเข้าสู่ปกติแล้ว ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ลดผลกระทบประชาชนให้น้อยที่สุด จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 50,000 บาท โดยคาดว่าโรง ซักฟอก อบฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ เสื้อผ้าผู้ป่วยจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในวันพรุ่งนี้เป็นอย่างช้า โดยทางโรงพยาบาลได้วางแผนป้องกันในระยายาวโดยประสานการเจาะฝังท่อระบายน้ำออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต่ำ และยกทางเดินเชื่อมระหว่างตึกให้สูงขึ้น จะช่วยได้โดยในวันนี้สมาคมแม่บ้านสาธารณสุขได้มอบเสื้อชูชีพจำนวน 30 ตัวให้โรงพยาบาลหลังสวน เพื่อใช้สำหรับออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางเรือ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งอสม.ในพื้นที่น้ำท่วม เพิ่มความระมัดระวังผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว 3 กลุ่มได้แก่ ผู้ป่วยโรคลมชัก โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ซึ่งหากประสบปัญหาน้ำท่วม หรือถูกสิ่งกระตุ้น จะทำให้อาการกำเริบได้ง่าย และเป็นผลเสียมากกว่า ต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกลุ่มผู้พิการ หากมีความเสี่ยง ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อฝากนอนไว้ได้เลย เพื่อความปลอดภัยลดการสูญเสียชีวิต
สำหรับพื้นที่น้ำท่วมทั่วไป ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ ออกให้บริการตรวจรักษาฟรีแก่ผู้ประสบภัยถึงในหมู่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2550 ถึงวันนี้ มีผู้เจ็บป่วยแล้ว 60,000 กว่าคน ใน 25 จังหวัด มากที่สุดที่อ่างทอง พิษณุโลก จังหวัดละ 10,000 กว่าราย อาการไม่รุนแรง มากที่สุดคือน้ำกัดเท้า ผื่นคัน และพบโรคตาแดง 500 กว่าราย ส่วนใหญ่เกิดจากการลงเล่นน้ำท่วมขัง หน่วยแพทย์ได้ให้การรักษาและควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดแล้ว ในวันนี้ได้ส่งยาสามัญประจำบ้านไปให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 10,000 ชุด และสั่งการให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าสำรองไว้100,000 ตลับ และสั่งการให้องค์การเภสัชกรรม สำรองยาสามัญประจำบ้าน ยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 150,000 ชุด พร้อมจัดส่งให้จังหวัดต่างๆทันที
ตุลาคม ******************************** 26 ตุลาคม 2550
View 13
26/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ