รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าพัฒนาความฉับไวหน่วยกู้ชีพนเรนทรในปี 2551 ให้ถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที หลังรับแจ้งเหตุให้ได้ร้อยละ 70 และขยายเครือข่ายกู้ชีพระดับตำบลเพิ่มขึ้น พร้อมผลักดันเบอร์โทร 3 หลักในระยะยาว แจ้งเหตุฉุกเฉินทุกประเภทเลขเดียวทั่วประเทศ โทรฟรีทุกระบบ บัตรเติมเงินหมดก็โทรได้ ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยในปีนี้จะเร่งติดเบอร์โทรศัพท์ที่สถานีอนามัย 4,000 แห่ง เริ่มที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่ติดแนวชายแดน ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2550 เป็นต้นไป
วันนี้ (26 ตุลาคม 2550) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการสัมมนาพัฒนาเครือข่ายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แพทย์ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงก่อตั้งการแพทย์ฉุกเฉินทางไกล เนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม 2550 และให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มีข้อตกลงร่วมกัน ในการสนับสนุนการใช้ช่องทางโทรศัพท์แจ้งขอใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมี ฯพณฯ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง การแพทย์ฉุกเฉินไทยในทศวรรษหน้า และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบโล่แสดงความขอบคุณแก่บริษัทภาครัฐและเอกชนด้านการสื่อสาร 9 แห่ง ที่เปิดบริการประชาชนโทรแจ้งเหตุฟรี ทาง 1669 ทั้งโทรศัพท์บ้าน และโทรศัพท์มือถือ มาโดยตลอด
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในปี 2551 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็น 12 บาทต่อคน รวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว 2,100 บาท เป็นเงิน 558 ล้านบาท โดยเร่งพัฒนาคุณภาพบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความรวดเร็วของการเดินทาง ตั้งเป้าให้บริการไม่ต่ำกว่า 8 แสนครั้ง ทีมกู้ชีพฉุกเฉินเดินทางถึงจุดเกิดเหตุให้บริการผู้ป่วยหลังรับแจ้งเหตุภายใน 10 นาทีได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และเพิ่มการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ อบต. ที่มีความพร้อมจัดหน่วยบริการระดับตำบลให้มากขึ้น เพิ่มจากร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 50 เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในชนบท ได้รับบริการอย่างรวดเร็วเหมือนในเขตเมือง สำหรับความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ภายในปีนี้ และประกาศใช้ให้ทันต้นปีหน้า
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ระบบการสื่อสารมีความสำคัญอย่างมากต่องานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะหมายถึงโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยจะมีสูงขึ้น หากได้รับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์อย่างรวดเร็ว จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า หมายเลข 1669 ประชาชนส่วนใหญ่ยังจำหมายเลขนี้ไม่ได้ อีกทั้งระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินมีหลายระบบ กว่า 20 หมายเลข เช่น 191 เมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายและอุบัติเหตุจราจร, 199 กรณีไฟไหม้, 1784 กรณีสาธารณภัย ประชาชนเกิดความสับสนในการแจ้งเหตุ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือล่าช้า โอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตและเกิดความพิการมีมากขึ้นตามระยะเวลาที่ต้องเสียไป
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้มีการจัดบริการหน่วยงานกลางในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (One Number For Emergency Sevices) มีหมายเลขโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียวทั้งประเทศ (One Emergency Public Number) ในระยะยาว โดยใช้เลข 3 หลักที่จำง่าย อาจเป็นเลขเดียวกันหรือเรียงเลข ไม่ซ้ำกับใคร ประชาชนโทรฟรีได้ทุกระบบ แม้บัตรเติมเงินหมด จุดดีของเบอร์โทร 3 หลัก หากผู้ป่วยอยู่ในระยะวิกฤต มีอาการหนัก อาจกดเลขผิด หรือไม่ครบ จะต่อสายเข้าสู่ระบบนี้ได้โดยอัตโนมัติ และมีพนักงานรับแจ้งเหตุที่มีความเชี่ยวชาญแยกแยะเหตุ และประสานไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางหมายเลขฉุกเฉินเดิม เชื่อมต่อกับศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 มอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้ดำเนินการจัดวางระบบดังกล่าวแล้ว หากระบบนี้สำเร็จจะช่วยให้ประชาชนสะดวกในการโทรแจ้งเหตุ ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ทางด้านนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งพัฒนาระบบการสื่อสารของหน่วยบริการระดับสถานีอนามัย ซึ่งมีกว่า 9,000 แห่งครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ ให้สามารถติดต่อให้ทั่วถึงทั้งวิทยุสื่อสาร และระบบโทรศัพท์บ้าน โดยเฉพาะหากเกิดเหตุวิกฤติในพื้นที่ใดก็จะสามารถตรวจสอบประสานการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาสถานีอนามัยมีโทรศัพท์บ้านใช้ประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น ได้ประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้รับการอนุมัติให้ติดตั้งโทรศัพท์ที่สถานีอนามัยจำนวน 4,000 แห่ง ในเบื้องต้นนี้จะเร่งติดตั้งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประมาณ 400 แห่งก่อน และให้สถานีอนามัยที่อยู่ในบริเวณชายแดนต่างๆ เพราะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารหรืออยู่ห่างไกลกว่าที่อื่นๆ โดยจะเริ่มติดตั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารระหว่างหน่วยงานดียิ่งขึ้น
******************************* 26 ตุลาคม 2550
View 11
26/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ