ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ผู้บริหารและบุคลากรทั่วประเทศ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนักจากคนไข้ที่มากขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอ และจากกระแสโซเชียลแก้ปัญหาระบบ เน้นการนำเทคโนโลยี ระบบการสื่อสารชี้แจงขั้นตอนการบริการ ลดความกังวลรอการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติ เปิดคลินิกหมอครอบครัว ลดแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ จัดระบบผู้ป่วยฉุกเฉิน และคลินิกพิเศษนอกเวลา

วันนี้ (31 กรกฎาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข  ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

นายแพทย์โสภณให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ต้องการให้กำลังใจและขอบคุณบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานหนัก อาจเสียกำลังใจที่ถูกต่อว่าร้องเรียน โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่ามีเรื่องที่เป็นความจริงกับไม่เป็นความจริง จำนวนเท่า ๆ กัน  จึงขอให้บุคลากรอดทน วิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงและหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง แต่หากเป็นเรื่องไม่จริงก็จะต้องมีระบบการชี้แจงเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดและเมื่อวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกพบว่า ขณะนี้ผู้รับบริการมีจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุประชาชนเข้าถึงบริการได้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องแก้ไขในเชิงระบบซึ่งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรอบอัตรากำลังเพิ่ม เพราะเห็นความสำคัญและรู้ดีว่าบุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักจริง ๆ 

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ได้มอบให้ผู้บริหารดำเนินการดังนี้ 1.การจัดระบบบริการ เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้  เช่น นัดคิวรักษาออนไลน์ ระบบการสื่อสารกับประชาชนให้ทราบขั้นตอนการรักษา บอกเวลาที่ต้องรอคอยในขั้นตอนต่าง ๆ สื่อสารทุกช่องทาง ด้วยบุคคล ป้าย ตัววิ่ง โซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่น เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยและญาติ เช่นที่โรงพยาบาลชลบุรีดำเนินการแล้ว เป็นต้น 2.การพัฒนาระบบบริการ โดยเปิดคลินิกหมอครอบครัว กระจายบุคลากรไปดูแลรักษาผู้ป่วย ลดความแออัด ไม่ต้องรอนาน การจัดระบบดูแลผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน  ที่แพทย์เชี่ยวชาญได้ให้การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินจริงๆ และจัดคลินิกนอกเวลาให้บริการตรวจรักษาการเจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อย 3.การจัดการกำลังคน  จัดสรรตามภาระงาน โรงพยาบาลที่มีปริมาณงานมากต้องได้อัตรากำลังมาก

“ขณะนี้บุคลากรสาธารณสุขงานหนักจริง ๆ อยากให้ประชาชนเข้าใจ ให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และช่วยกันดูแลตนเองในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาในการรับบริการ ขอให้สอบถามเจ้าหน้าที่ หัวหน้าแผนก หรือผู้อำนวยการ หรือที่กระทรวงสาธารณสุข เรายินดีรับฟังและแก้ไข อย่าโจมตีต่อว่ากัน เพื่อไม่ให้คนดีๆ เสียกำลังใจ พยายามรักษาคนดีให้อยู่ในระบบราชการ ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป” นายแพทย์โสภณกล่าว

*****************************  31 กรกฎาคม 2560



   
   


View 25    31/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ