กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง จัดสรรเงินช่วยเหลือ 5,000 ล้านบาทจากรัฐบาลถึงมือโรงพยาบาลที่ประสบปัญหา เตรียมหารือสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีการกระจายและจัดสรรเงินช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว  เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดบริการและคุณภาพการบริการประชาชน
 
         นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การบริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัวโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 15 ปีผ่านมา ที่รวมเงินเดือนไว้แล้วไปหักออกจากงบรายหัวที่จัดสรรให้โรงพยาบาล ได้ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลในการจัดบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร ระบุว่าได้รับเงินค่าใช้จ่ายรายหัวประมาณ 3,000 บาทต่อคน แต่ถูกเหมารวมรายจ่ายและเงินเดือนเจ้าหน้าที่ ที่ต้องนำไปหักยอดข้างต้นอีก 2,004 บาท ทำให้เหลือเงินรายหัวไม่ถึงพันบาท ต้องทอดผ้าป่าขอรับเงินบริจาคจากผู้ป่วย ผู้ใจบุญ แบบรายวัน เพื่อบริหารจัดการภายในโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ดี เนื่องจากทำให้ความสามารถในการบริการประชาชนลดลง ไม่เต็มที่ และปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงที่พิจิตรแห่งเดียว แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกัน
 
          ข้อมูลจากกลุ่มประกันสุขภาพ ในปี 2559 มีโรงพยาบาลชุมชนจำนวน 441 แห่ง หรือเกือบครึ่งจากทั้งหมด 886 แห่ง ได้รับงบประมาณต่อหัวประชากร หลังหักเงินเดือนและค่าตอบแทนน้อยกว่า 1,000 บาท โดยมี 9 แห่งเหลืองบน้อยกว่า 100 บาท อีก 34 แห่งได้รับ 100 – 499 บาท และ 379 แห่ง ได้รับ 500-999 บาท  และมีโรงพยาบาลติดลบอีก 19 แห่ง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดโอนเงินสนับสนุนจากงบกลางรัฐบาลจำนวน 5,000 ล้านบาทแก่โรงพยาบาลต่างๆ ให้โรงพยาบาลตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2560 รวมทั้งร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการจัดสรรงบประมาณตามผลงานปลายปี 2560 ลงไปโรงพยาบาลให้อีกประมาณเดือนสิงหาคมจะช่วยให้สภาพคล่องของโรงพยาบาลดีขึ้น 
 
          สำหรับโรงพยาบาลพิจิตร ได้โอนช่วยเหลือจากงบกลางรัฐบาล เป็นเงินชดเชยผลงานการบริการผู้ป่วยในจำนวนเงิน 37,118,233 บาท เพื่อชำระภาระหนี้สินและแก้ปัญหาสภาพคล่องการเงิน ทำให้ทุนสำรองสุทธิติดลบลดลง และเงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้แล้วลดลง เหลือติดลบ 123 ล้านบาทถึงแม้จะทำให้ปลดหนี้สินออกไม่ได้  แต่ก็ยังเพียงพอที่จะแก้ไขสภาพคล่องได้บ้าง โดยในภาพรวมยังต้องมีการติดตามกันต่อไป
 
          ในส่วนข้อเสนอของโรงพยาบาลในประเด็นขอให้มีการแยกเงินเดือนออกจากค่าใช้จ่ายรายหัว ได้อยู่ในการปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ข้อดี และข้อเสียเพื่อนำเสนอแล้ว ขอให้ติดตามผลการพิจารณาต่อไป 
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจในสถานการณ์เงินบำรุงของโรงพยาบาลที่อาจจะทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพตามมาตรฐาน  โดยจะหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีการกระจายและจัดสรรเงินช่วยเหลือฉุกเฉินในระยะเวลาอันรวดเร็วต่อไป    
 
                                                                         ****************************** 28 กรกฎาคม 2560


   
   


View 29    28/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ