กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนชนที่ชอบกินของ สุกๆ ดิบๆ ระวังพยาธิตัวตืด แนะกินอาหารปรุงสุกใหม่                                

นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันการเจ็บป่วยจากการกิน อาหารไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อโรคนับเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยที่สำคัญของคนไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินอาการดิบ หรือกึ่งดิบเป็นเรื่องที่นำอันตรายเข้ามาใกล้ตัวที่สุด      ทั้งจากเชื้อโรคพวกแบคทีเรียที่มองไม่เห็น และจากพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์  ทั้งนี้ พฤติกรรมการกินอาหารดิบๆ ยังพบได้ต่อเนื่อง และมักจะพบในวงเหล้า เนื่องจากบางคนยังเชื่อว่าเหล้าซึ่งมีแอลกอฮอล์ สามารถฆ่าเชื้อโรค ฆ่าพยาธิให้ตายได้ หรือใช้น้ำมะนาวจะทำให้เนื้อสุกได้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเหล้าไม่ได้ทำให้พยาธิตาย มะนาวไม่ได้ทำให้เนื้อสุก การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่นเนื้อสุกร โค หรือกระบือแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบดิบ หรือที่บางท้องถิ่นเรียกว่าบัวลอย โดยใส่เลือดลงในเนื้อดิบๆ รวมทั้ง ลาบแดง หลู้ดิบ แหนมดิบ มีความเสี่ยงอันตรายมากโดยเฉพาะหมูหรือสุกรที่มีการฆ่าไม่ถูกต้องตามมาตรฐานไม่ได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์ เพราะอาจพบพยาธิได้หลายชนิด เช่น พยาธิตัวแบน พยาธิทริคิเนลลา  เป็นต้น

สำหรับพยาธิตัวตืดในหมู เมื่อคนกินไข่พยาธิตัวอ่อนที่อาจปนเปื้อนเข้าไป หรือที่ไข่พยาธิตัวอ่อนฝังตัวอยู่ในเนื้อหมูที่มีถุงหุ้มคล้ายเม็ดสาคู เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายโดยคนกินเข้าไป พยาธิจะออกจากถุงหุ้ม เจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้ ออกไข่แพร่พันธุ์ไปเรื่อยๆ แย่งอาหารจากคนที่กินเข้าไป ทำให้ขาดสารอาหาร โลหิตจางหากมีพยาธิจำนวนมาก จะทำให้ลำไส้อุดตัน  อันตรายจากพยาธิพวกนี้ยังเกิดจากไข่พยาธิที่เกิดในตัวคนติดเชื้อเอง กระจายไปติดอยู่ในอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น หากเข้าไปที่สมอง จะทำให้ปวดศีรษะ ชักกระตุก หรือหมดสติ หรือไปที่กล้ามเนื้อหัวใจ จะทำให้เกิดอาการหัวใจอักเสบ

พยาธิอีกชนิดที่อาจพบได้ในเนื้อหมูคือ พยาธิตัวกลมทริคิโนซีส จะทนต่อกระบวนการถนอมอาหาร เช่นการหมักเกลือ ใช้เครื่องเทศ หรือรมควัน แต่จะตายเมื่อถูกความร้อนที่เพียงพอ การกินเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนพยาธิตัวนี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง จากนั้นราว 1 สัปดาห์จะมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากพยาธิกระจายไปตามอวัยวะต่างๆทำให้เสียชีวิตได้

วิธีป้องกันทำได้ด้วยตัวเราเองง่ายๆไม่ยุ่งยาก ดังนี้ 1.กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนหรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่กินสุกๆ ดิบๆ 2.เลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ที่มีการตรวจสอบรับรองโดยสัตวแพทย์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู 3.ไม่กินหมูที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุหรือหมูที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน 4.หากมีอาการผิดปกติหลังกินหมู ให้รีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้การวินิจฉัยดูแลรักษาโดยเร็ว

                                                    ************************************* 23 กรกฎาคม 2560

 

 

 

 

 

 

 

 




   
   


View 37    23/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ