ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมคลินิกหมอครอบครัวคลองศาลา จัดบริการแบบ One stop service ทำให้ระยะเวลารอคอยน้อยกว่าเวลารอคอยในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ประชาชนพึงพอใจ กว่าร้อยละ 91 ยกระดับคุณภาพประสิทธิภาพการบริการ ดังสโลแกน “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง และทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2560) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวคลองศาลา (PCC คลองศาลา) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ พัฒนางานคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster หรือ PCC) โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรวมกันเป็นเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ เพิ่มแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเข้าไปเติมเต็ม ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพที่มีอยู่ทั้งหมดในระบบ และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิในเขตเมืองบางพื้นที่การเข้าถึงบริการในโรคพื้นฐานทั่วไปค่อนข้างยากลำบาก รวมทั้งให้บริการประชาชนในเขตชนบทได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานบริการในรูปแบบของการบริการใกล้บ้านใกล้ใจแบบองค์รวม ครบทุกมิติ เน้น “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง และทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”มุ่งสู่ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับ PCC คลองศาลา ของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เป็นการบริหารแบบเขตเมือง ได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ ด้านการบริหารจัดการให้ชุมชนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ โดยจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคลินิกหมอครอบครัวโดยมีนายกเทศมนตรีเป็นประธาน ทำให้เกิดระบบบริการร่วมกับชุมชน ได้แก่ 1.จัดบริการพื้นฐาน (Essential care) ทั้งการดูแลรักษาเบื้องต้น การดูแลภาวะฉุกเฉิน การดูแลโรคเรื้อรังโดยชุมชนมีส่วนร่วม และการจัดโรงเรียนเบาหวานร่วมกับชุมชน 2.การสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆและภาคเอกชน อาทิ การสร้างเครือข่ายชมรมสร้างสุขภาพต่างๆ 3.การดูแลที่บ้าน(Home-based care) บริการที่บ้านโดยแบ่งตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องให้การพยาบาลหรือผู้ที่ต้องการฟื้นฟูที่บ้าน ระบบดูแลต่อเนื่องระยะยาว สำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long term care) 4.การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดำเนินการป้องกันโรคโดยทีมร่วมระหว่างเทศบาลกับโรงพยาบาล และชุมชน อาทิ ระบบการดูแลปัญหาพฤติกรรมเด็กวัยเรียนแบบบูรณาการในโรงเรียน คลินิกส่งเสริมสุขภาพ คลินิกเสริมสร้างทักษะการดูแลตนเองสำหรับโรคเรื้อรัง เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินงานของ PCC คลองศาลาทำให้สัดส่วนของประชาชนในเขตเทศบาลมาใช้บริการที่คลองศาลาเทียบกับโรงพยาบาลเพชรบูรณ์เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นบริการแบบ One stop service ทำให้ระยะเวลารอคอย(Waiting time)น้อยกว่าระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ 3-5 เท่า ของเวลารอคอยที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ สร้างความพึงพอใจของประชาชนในเขตเทศบาล กว่าร้อยละ 91.25 โดยพื้นฐานทั้งหมดเป็นการดูแลแบบเชิงรุก เน้นการป้องกันก่อนเจ็บป่วยในทุกกระบวนการดูแล เพื่อลดความเจ็บป่วย ตามแนวคิด “สร้างนำซ่อม”และใช้การดูแลร่วมกับชุมชน
*********************************************20 กรกฎาคม 2560
**************************
View 32
20/07/2560
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ