ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงตรวจพื้นที่จังหวัดระนอง ติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอุจจาระร่วง หลังพบทั้งคนไทยและพม่าป่วยจากเชื้อเอลทอร์ โอกาว่า 70 ราย พบมากในเด็กเล็ก ระบุพฤติกรรมต้นเหตุจากกินอาหารสุกๆดิบๆ ไม่ขับถ่ายลงส้วม และไม่ล้างมือก่อนกินอาหาร ยืนยันขณะนี้สถานการณ์โรคระดับประเทศไม่ถึงขั้นระบาด อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน กำจัดอุจจาระโดยเฉพาะอุจจาระเด็กให้ถูกต้อง เนื่องจากยังมีความเชื่อผิดๆ ว่า อุจจาระเด็กสะอาด ไม่มีเชื้อ
วันนี้ ( 17 ตุลาคม 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอุจจาระร่วง ที่ จ.ระนอง หลังมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อเอลทอร์ โอกาว่า ซึ่งเป็นเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ติดต่อทางน้ำและอาหาร มีรายงานผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2550 หลังจากที่ไม่พบโรคนี้ตลอดปี 2549 หลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์โรคจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้ลงตรวจเยี่ยมดูการควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่ชุมชนหมู่ 5 และสถานีอนามัยมิตรภาพ ต.บางริ้น ซึ่งเป็นย่านที่มีแรงงานชาวพม่าอาศัยเป็นจำนวนมากประมาณ 19,000 คน และเป็นจุดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด โดยทางจังหวัดได้ดำเนินการเข้มข้น ควบคุมความสะอาดสุขาภิบาลอาหาร น้ำดื่ม ส้วม การกำจัดขยะ จัดรถให้สุขศึกษาเคลื่อนที่ให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวป้องกันโรค และแจกเอกสารให้ความรู้เป็นภาษาพม่าด้วย
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า เชื้อโรคเอลทอร์ โอกาว่า (Eltor ogawa) เป็น 1 ในโรคติดเชื้อทางเดินอาหารดั้งเดิมที่เกิดขึ้นไม่มาก เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มของวิบริโอ โคลีเรอี (Vibrio cholerae) ที่หวนกลับมาระบาดใหม่ในพื้นที่มีระบบการสุขาภิบาลน้ำและการกำจัดขยะไม่ดี พบได้ทั่วโลก ในปี 2549 องค์การอนามัยโลกรายงานมีคนป่วยทั้งหมด 236,896 รายใน 52 ประเทศ เสียชีวิต 6,311 ราย แนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปี 2548 ร้อยละ 79 ส่วนใหญ่อยู่ในอัฟริกา ในส่วนของไทยนั้นแนวโน้มโรคติดเชื้อทางเดินอาหารลดลง ในรอบ 10 เดือนปี 2550 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 925,010 ราย ในจำนวนนี้พบติดเชื้อเอลทอร์ เพียงร้อยละ 0.04 เท่านั้น แต่ไทยได้ให้ความสำคัญในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แม้พบผู้ป่วยประปราย ยังไม่ถึงขั้นการระบาดก็ตาม
สถานการณ์โรคในปี 2550 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงวันที่ 15 ตุลาคม ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยยืนยันป่วยจากเชื้อดังกล่าวเพียง 402 รายใน 20 จังหวัด พบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ รองลงมาอายุ 5-9 ปี ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 225 ราย พม่า 177 ราย เสียชีวิต 1 รายเป็นผู้สูงอายุ จังหวัดที่พบมากที่สุดได้แก่ ตาก 246 ราย ระนอง 70 ราย นครสวรรค์ 20 ราย ขอนแก่น 15 ราย นอกนั้นมีผู้ป่วยจังหวัดละ 1-6 ราย ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงาน ต้องหลบซ่อนและย้ายที่อยู่ประจำ การกินอยู่ไม่สะอาด ทำให้เจ็บป่วยจากโรคทางเดินอาหารง่าย จากการสอบสวนโรคพบสาเหตุมากที่สุด เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกและขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะ ที่สำคัญคือไม่ล้างมือหลังจากปัสสาวะและถ่ายอุจจาระแล้ว นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนยังมีความเชื่อผิดๆ ว่าอุจจาระของเด็กไม่มีเชื้อโรค ทำให้ไม่ใส่ใจที่จะกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกวิธี เช่น ใช้กระดาษโกยอุจจาระทิ้งลงพื้นดิน ไม่มีการฝังกลบ ทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า ในการควบคุมป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อชนิดนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งวอร์รูม วิเคราะห์ปัญหา ติดตามสถานการณ์ และวางมาตรการแก้ไขอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยมีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ขณะนี้ทุกจังหวัดสามารถควบคุมเชื้อโรคได้ทุกแห่ง ขอให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางใจ และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยมาตรการที่เน้นหนักคือให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคเชิงรุก ออกค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้สัมผัสโรคร่วมบ้าน หากรายใดมีอาการคล้ายหรือสงสัย ให้สอบสวนโรคทันที พร้อมประสานเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำกับดูแลกำจัดขยะมูลฝอย ใช้น้ำยาไลโซล (Lysol) ฆ่าเชื้อโรคไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อโรค ล้างตลาดสด แพปลา ส้วมสาธารณะ และดูมาตรฐานร้านอาหารทุกประเภท และขอความร่วมมือการประปา รักษาระดับคลอรีนตกค้างตามมาตรฐาน 0.020.5 พีพีเอ็ม ในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยให้เพิ่มความเข้มข้นอีก 1 เท่าตัว
รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันตนเอง โดยดื่มน้ำสะอาดที่ต้มให้เดือดก่อน หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หากกินอาหารนอกบ้านให้เลือกร้านที่มีป้ายรับรองอาหารสะอาด รสชาติอร่อย จากกระทรวงสาธารณสุข ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล ต้องกินสุกเท่านั้น เพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ตายง่ายเมื่อถูกความร้อน อาหารค้างคืนต้องอุ่นให้เดือดก่อนนำมากิน และล้างมือให้สะอาดหลังขับถ่ายและก่อนกินอาหารทุกครั้ง หากทุกคนปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย ก็จะไม่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงทุกชนิด นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังรับเชื้อเอลทอร์ที่ปนเปื้อนเข้าไปทางอาหารและน้ำ เชื้อจะฟักตัว 2-3 ชั่วโมงจนถึง 5 วัน อาการเริ่มด้วยถ่ายอุจจาระเป็นน้ำจำนวนมากอย่างฉับพลัน ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว อาจมีคลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยร้อยละ 20 จะมีอาการรุนแรง สูญเสียน้ำออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตใน 2-3 ชั่วโมงได้มากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนเลือดล้มเหลว แต่หากรักษาทัน อัตราป่วยตายจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งโรคนี้รักษาหายขาดได้ สถานพยาบาลทุกแห่งมียาพร้อม หากประชาชนมีอาการดังกล่าวต้องรีบมาพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเองโดยเฉพาะยาหยุดถ่าย เพราะทำให้เชื้อคั่งในลำไส้ อาการจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นเสียชีวิต หรือเสี่ยงโรคไม่หายขาด เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมาได้ และที่สำคัญอาจเป็นรังโรคโดยไม่แสดงอาการป่วย
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง สามารถตรวจหาเชื้อได้ภายใน 1 วัน หากพื้นที่ใดมีคนป่วยมากจะจัดรถโมบายแล็บไปตรวจในพื้นที่ได้ทันที หลังจากทราบชนิดเชื้อแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อในลำไส้ และตรวจหาเชื้อซ้ำทุกราย หากยังพบเชื้อจะให้กินยาต่ออีก
********************* 17 ตุลาคม 2550
View 9
17/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ