กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยรัฐบาลสนับสนุนการดำเนินงานโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ได้ผลเป็นรูปธรรมชัดเจน อาทิ โครงการคลินิกหมอครอบครัว ระบบการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง ตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ

     วันนี้ (15 มิถุนายน 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันแถลงข่าว “ความจริงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน ที่อาจสับสนจากข้อมูลที่แชร์กันทางสื่อออนไลน์
     ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ารัฐบาลได้ในความสำคัญกับสุขภาพประชาชน ได้สนับสนุนงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข และสปสช.ร่วมกันดำเนินการโดยมีประชาชนเป็นหลัก มุ่งเป้าให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาได้บูรณาการการทำงานอย่างเต็มที่ ร่วมกับองค์กร ส.ต่าง ๆ นโยบายที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การดูแลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค มีผลงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ คลินิกหมอครอบครัวที่เริ่มตั้งแต่ 2559 มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนทุกคนในอัตราส่วนที่เหมาะสม ประชาชนมีทีมหมอครอบครัวดูแลส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลรักษา ลดความแออัดในโรงพยาบาล ระบบการดูแลระยะยาว (Long Term Care) ดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงให้ช่วยเหลือตัวเองได้ และให้ชุมชนร่วมดูแล ซึ่งเดิมไม่เคยมี โดยรัฐบาลเพิ่มงบจาก 600 ล้านบาทในปี 2559 และเพิ่มเป็น 900 ล้านบาทในปีนี้  รวมทั้ง ครม.ได้อนุมัติให้มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (District Health Board : DHB)เพื่อบูรณาการงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน เอกชน เป็นการทำงานแบบประชารัฐ ในด้านการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพประชาชนในระดับอำเภอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี  
     สำหรับยุทธศาสตร์พัฒนาความเป็นเลิศด้านการบริการ เมื่อประชาชนเจ็บป่วยให้ได้รับการดูแลที่ดีที่สุด ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดูแลรักษาขั้นต้น พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลประชารัฐ เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล คือให้ชุมชนมีส่วนร่วม และการดูแลผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤตกลับมาดูแลใกล้บ้าน เตรียมความพร้อมญาติในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และติดตามดูแลต่อเนื่อง มีระบบส่งต่อเชื่อมโยงไปสู่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ รวมทั้งเลือกเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ ยา ที่เหมาะสมกับประเทศไทยในการดูแลประชาชนด้วยราคาที่สมเหตุสมผลที่สุด ปรับระบบการรักษาผ่าตัด 1 วันกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล 
     “กระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 11,000 แห่ง ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 47 ล้านคน พยายามอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพบริการ แต่หากมีข้อผิดพลาดบ้างก็ต้องขอโทษแทน และจะรีบแก้ไข ไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดพลาด ทุกคนพยายามทำดีที่สุดเพื่อประชาชน” รมว.สธ.กล่าว  
     ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายให้คนไทยสุขภาพดี อายุยืนยาว 80 ปีโดยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล เน้น “การสร้างนำซ่อม” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินงานโครงการต่างๆ อาทิ การพัฒนาเด็กไทย 4 H ร่วมกับ 4 กระทรวงหลัก มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอช่วยสนับสนุน กลุ่มวัยเรียน ให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กนร.หญิงป.5 คาดเริ่มได้เดือนกรกฎาคมนี้ กลุ่มวัยรุ่นได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น วัยทำงานเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ลดโรคเรื้อรัง ค้นหากลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อชะลอไตเสื่อม และการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปี 2561 กลุ่มผู้สูงอายุได้จัดระบบการดูแลระยะยาว มีทีมหมอครอบครัวลงไปให้การดูแลกลุ่มติดบ้านติดเตียงที่บ้าน
     การพัฒนาระบบบริการ เน้นระบบสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยคลินิกหมอครอบครัว เพื่อลดแออัด ลดป่วย ลดค่าใช้จ่าย ให้คนไทยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล 6,500 คนภายใน 10 ปี ให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลประชารัฐ และเป็น intermediate care ดูแลผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต และขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด ช่วยลดการตายจากโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบและแตก การจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่”(UCEP)ช่วยชีวิตผู้ป่วยในระยะวิกฤต ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคผลิตและพัฒนาบุคลากร เพิ่มการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินประจำห้องฉุกเฉินรพ.รัฐ และผลิตแพทย์ด้านระบาดวิทยา เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ อาทิMERS EBola
     ด้านการสร้างความยั่งยืนของระบบสุขภาพ ร่วมกันทำงาน คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ DHB นโยบายการใช้ยาสมเหตุผลในโรงพยาบาลออกพ.ร.บ. ควบคุมส่งเสริมการตลาดนมผง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ  พ.ร.บ.ป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 5,000 ล้านบาท จะจัดสรรงบประมาณภายใน 1- 2 สัปดาห์นี้  รวมทั้งการเพิ่มอัตราข้าราชการพยาบาล เป็นต้น
    นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประชาชน คือหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เราได้ก่อรูปกันขึ้นมา โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องตอบโจทย์คือประชาชนได้อะไร คำตอบคือการสร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันด้านสุขภาพให้ให้ประชาชนทุกคนที่เป็นคนไทย มีความมั่นคงในเรื่องสุขภาพ รูปธรรมภายใต้แนวคิดนี้ จะมีคำที่สำคัญๆ ที่เป็นหัวใจ คือ 1.การเข้าถึงบริการมี 5 มิติ คือ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค 
     2. บริการมีคุณภาพซึ่งความร่วมมือระหว่าง สปสช.และสธ.จะทำให้เกิดคุณภาพของการให้บริการ อะไรที่เป็นความร่วมมือจะบอกถึงความต้องการของ 2 ส่วนที่เกิดความสมดุล ว่าประชาชนยังขาดอะไร ยังต้องการอะไร หน่วยบริการสามารถให้คุณภาพนั้นกับความต้องการได้หรือเปล่า เช่น การพัฒนาในเรื่องการผ่าตัดวันเดียว ในหลายๆ โรคขณะนี้เราพัฒนาขึ้นมาได้ สปสช.ก็ต้องออกแบบการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ เพื่อทำให้ประโยชน์ของประชาชนเกิดขึ้น นี่คือตัวอย่างรูปธรรมของคุณภาพที่ประชาชนจะได้รับในเรื่องการรักษาพยาบาล 3.การป้องกันการล้มละลาย จากโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องออกแบบร่วมกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระประชาชนในเรื่องค่าใช้จ่าย 
     รัฐบาลดำเนินการตามหลักสากล คือ เน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นหัวใจ โดยปีนี้ได้เพิ่มสัดส่วนงบประมาณในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ให้ต่ำกว่า 10% และพยายามเพิ่มให้ถึง 15% ส่วน เรื่องเครื่องมือป้องกันโรค ที่ชัดเจนก็คือวัคซีนต่างๆที่เราให้ประชาชน ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันคอตีบ และทุกตำบลขณะนี้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ที่ดำเนินงานในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามความเหมาะสมของบริบทในพื้นที่ เสริมระบบแกนหลักที่จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 
    นอกจากนี้ในเรื่องผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ กลุ่มติดบ้านติดเตียง ซึ่งอาจทำให้ครอบครัวล้มละลายหรือมีปัญหาได้ ตรงนี้ก็ต้องมาจัดระบบการดูแลร่วมกันระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องและการออกแบบในเรื่องการเงิน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งซึ่งเดินหน้าไปภายใต้ข้อมูลทางวิชาการและความต้องการจากประชาชนผู้รับบริการและภายใต้ความพร้อมของระบบบริการที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้ในแต่ละช่วงเวลา ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้องแบ่งสรรไปตามส่วนต่างๆตามความเหมาะสม และส่วนสำคัญคือ อย่างน้อยตอนนี้มีความร่วมมือในเชิงบริหารจัดการตรงนี้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สำคัญในเรื่องการใช้เงินเพื่อจัดระบบบริการเพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน ภายใต้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
************************************** 15 มิถุนายน 2560


   
   


View 31    15/06/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ