ศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร รายงานผลการปฏิบัติการด้านการแพทย์ รอบ 6 เดือน ให้บริการประชาชนรวม 2,316,558 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่งรักษาต่อ 1,250 คน เตือนผู้มีโรคประจำตัวควรพกยาประจำตัว หากมาคนเดียวควรเขียนประวัติการแพ้ยา หรือมีโรคประจำตัวติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการดูแล

วันนี้ (22 เมษายน 2560) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ร่วมกันให้บริการประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะ พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง และบริเวณสนามหลวง อย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติจากภาครัฐ และองค์กรสาธารณประโยชน์ รวม 29 แห่ง ได้แก่หน่วยแพทย์พระราชทานฯ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สังกัดโรงเรียนแพทย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ สภากาชาดไทย และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า การให้บริการประชาชนครอบคลุมทั้งการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล การดูแลสุขภาพจิต และการส่งต่อโดยมีจุดบริการ 10 จุด ได้แก่ 1.พระแม่ธรณีบีบมวยผม 2.สนามหลวงด้านทิศใต้ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง 3.สนามหลวงด้านทิศเหนือกองอำนวยการ กทม. 4.ประตูวิเศษชัยศรี 5.ข้างกระทรวงกลาโหม 6.สนามหลวงด้านทิศใต้ตรงข้ามศาลหลักเมือง 7.สนามหลวงด้านทิศใต้ตรงข้ามวัดมหาธาตุ 8.ประตูเทวาภิรมย์ 9.วัดมหาธาตุฯ 10.ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้จะมีโรงพยาบาลสนาม(กองทัพบก) และกรุงเทพมหานครให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้จะมีการปรับแผนเพิ่มลดทีมแพทย์เพื่อรองรับประชาชนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ และจำนวนประชาชน
ทั้งนี้ขอแนะนำประชาชนที่เดินทางมีร่วมถวายสักการะพระบรมศพฯ ขอให้เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ จากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงนี้ควรเตรียม หมวก พัด น้ำดื่มติดตัวมาด้วย ผู้มีโรคประจำตัวควรพกยาประจำตัวด้วย ประชาชนที่เดินทางมาคนเดียว ควรเขียนรายละเอียดประวัติการแพ้ยา หรือมีโรคประจำตัวติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลพร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อญาติ และสามารถขอรับบริการทางการแพทย์ได้ในพระบรมมหาราชวัง บริเวณสนามหลวง หรือโทรสายด่วน 1669 , 1646 ตลอด 24 ชั่วโมงนายแพทย์โสภณ กล่าว
ด้านนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะผู้ควบคุมศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559- 20 เมษายน 2560 รอบ  6 เดือนที่ผ่านมาให้บริการประชาชนรวม ทั้งสิ้น 2,316,558 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นลม ตรวจโรครักษาทั่วไป เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ไข้ เจ็บคอ ปวดหลัง ปวดขา เป็นต้น นำส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาล 1,250 คน และมีผู้รับการตรวจประเมินสุขภาพทางจิต โดยทีมสุขภาพจิต(Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) รวม 5,369 คน โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่แนวโน้มสุขภาพจิตดีขึ้น   ********************* 22 เมษายน 2560
 
 
 
 


   
   


View 23    22/04/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ