กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพิษจากพายุเลกีมา ขณะนี้พบประชาชนเจ็บป่วยแล้วกว่า 3,000 ราย เครียดนอนไม่หลับ 800 ราย แต่ไม่มีใครอาการรุนแรง ถูกงูกัด 1 รายที่ จ.เพชรบูรณ์ ขณะนี้อาการปลอดภัย แพทย์ให้กลับบ้านได้ ขณะนี้สำรองยาไว้อีก 300,000 ชุด พร้อมจัดส่งจังหวัดทีขาดแคลนทันที
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุดีเปรสชั่นเลกีมา ที่จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ ว่า นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ประสบภัยตามหมู่บ้านต่างๆอย่างเต็มที่ทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 20 ทีม พร้อมยารักษาโรคครบครัน อุปกรณ์ทำแผล รวมทั้งการออกหน่วยสุขศึกษาเคลื่อนที่ เพื่อให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยซ้ำเติมอีก
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า รายงานล่าสุดในรอบ 3 วันมานี้ พบผู้เจ็บป่วยในพิษณุโลกและเพชรบูรณ์รวมกว่า 3,000 ราย โดยที่จังหวัดเพชรบูรณ์พบผู้ป่วย 1,000 กว่าราย เฉลี่ยวันละ 300 กว่าราย จำนวนนี้มีชาวบ้านที่ อ.หนองไผ่ถูกงูกัด 1 ราย แพทย์ได้ส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลหนองไผ่ ขณะนี้อาการปลอดภัย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ววันนี้ ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ มีบาดแผลถลอกเล็กน้อย 500 รายหน่วยแพทย์ทำแผลและฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และเริ่มมีผื่นคันที่ผิวหนัง 20 ราย ในวันนี้ได้จัดหน่วยแพทย์ออกให้บริการ 12 จุด และแจกถุงดำใส่ขยะเพื่อลดความสกปรกของน้ำอีก 10,000 ใบ
สำหรับที่จังหวัดพิษณุโลก พบผู้เจ็บป่วยแล้วกว่า 2,000 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ที่มีความเครียด นอนไม่หลับจำนวน 800 ราย ในวันนี้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และทีมจิตแพทย์ นักสุขภาพจิต ไปที่อำเภอนครไทย วังทอง เนินมะปรางอำเภอละ 4 ทีม เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนทางด้านจิตใจ เป็นการด่วน ในเบื้องต้นยังไม่ผู้ใดมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งหน่วยแพทย์และจิตแพทย์ นักจิตวิทยาลงให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในวันนี้ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมสำรองยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 150,000 ชุด และยาสามัญประจำบ้านเพิ่มอีก 150,000 ชุด เพื่อจัดส่งให้จังหวัดที่ขาดแคลนยา หรือมียาแต่ไม่พอ รวมทั้งสำรองงบประมาณไว้ที่ส่วนกลางอีก 10 ล้านบาท
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า สำหรับโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคเลปโตสโรซีส โรคตาแดง ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการป่วย แต่ได้สั่งการให้สำนักงานควบคุมโรคติดต่อที่จังหวัดพิษณุโลกและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ควบคุมป้องกันอย่างเต็มที่ จัดเตรียมผงคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำอุปโภคบริโภคภายหลังน้ำลดด้วย
ตุลาคม 1/7 **************************************** 7 ตุลาคม 2550
View 9
07/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ