กระทรวงสาธารณสุข กำชับสถานบริการในสังกัดในพื้นที่เสี่ยงประสบภัยจากพายุฤดูร้อน 30 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือ เร่งสำรวจความมั่นคงอาคาร สิ่งก่อสร้าง หากเสี่ยงเกิดอันตรายให้แก้ไขทันที  พร้อมเตรียมแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน  เตือนประชาชน หลีกเลี่ยงอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่/เสาไฟฟ้า/ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่/อาคารเก่าเสื่อมโทรม หากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่หมายเลข 1669       

                นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ  ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2560 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ โดยมีผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้ ในช่วงวันที่ 15-18 มีนาคม 2560 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และในช่วงวันที 16-19 มีนาคม 2560 ที่ภาคเหนือ ภาคกลาง  รวม 30 จังหวัด กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่งและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมแผนรับมือ 3 ด้าน ดังนี้ 1.เตรียมพร้อมป้องกันความเสียหายต่ออาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์  โดยสำรวจความแข็งแรงของตัวอาคาร  หลังคา  ป้ายประกาศ ไฟส่องสว่าง ตัดแต่งต้นไม้ รื้อถอนป้าย สิ่งก่อสร้างที่เป็นอันตราย พร้อมซ่อมแซมให้มีความปลอดภัย ตรวจสอบระบบระบายน้ำ ทำความสะอาดรางน้ำฝน ท่อระบายน้ำไม่ให้อุดตัน พร้อมเตรียมสถานที่ขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์  2.สำรองทรัพยากรต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อการจัดบริการประชาชนให้เพียงพอ เช่น ยา-เวชภัณฑ์ ระบบสำรองไฟ  สำรองน้ำมัน ออกซิเจน เป็นต้น 3.เตรียมแผนการจัดบริการนอกสถานที่และแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย กรณีอาคารบริการหรือสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายจนไม่สามารถให้บริการได้ โดยให้ประสานโรงพยาบาลข้างเคียงร่วมจัดบริการ

             ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงเข้าใกล้สิ่งก่อสร้างที่อาจเป็นอันตรายขณะเกิดพายุลมแรง เช่น ป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ และหากบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่หมายเลข 1669 

     ********************** 15 มีนาคม 2560

 

 

 

 

 



   
   


View 22    15/03/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ